อย.ผนึกกำลังตำรวจบก.ปคบ.ทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางเถื่อน

30 ต.ค. 2561 | 11:31 น.
อย. ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. บุกทลายโรงงานผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ ย่านคลองสามวา พบของกลางเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางลักลอบใส่สารห้ามใช้ และเครื่องสำอางไม่ได้จดแจ้งกว่า 30 รายชื่อรวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วยตำรวจ กองบังคับการ ปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)ร่วมตรวจค้นสถานที่ผลิตเครื่องสำอางเถื่อน ที่หมู่บ้านมีนทอง เลขที่ 69/14 ซอยนิมิตรใหม่ 49 ถนนนิมิตรใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ พบอุปกรณ์การผลิต วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และเครื่องสำอางสำเร็จรูปจำนวนมาก

ayy1

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ตรวจสอบ เฝ้าระวังเครื่องสำอางที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ยังคงพบว่ามีเครื่องสำอางบางยี่ห้อได้ลักลอบใส่สารห้ามใช้ เป็นเครื่องสำอางปลอม ใช้ชื่อโดยการแอบอ้างให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของแพทย์หรือคลินิก จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. จนกระทั่งพบว่ามาทำการลักลอบผลิต ณ สถานที่หมู่บ้านมีนทอง เลขที่ 69/14 ซอยนิมิตรใหม่ 49 ถนนนิมิตรใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ

"จากการตรวจค้นพบว่ามีวัตถุดิบที่เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น สารปรอท สเตียรอยด์ และเมื่อได้นำเครื่องสำอางที่ตรวจพบมาทดสอบเบื้องต้นตรวจครีมบางยี่ห้อ ปรากฏว่าพบไฮโดรควิโนนและสารปรอท นอกจากนี้ยังพบเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้งอีกกว่า 30 รายชื่อการค้ารวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท"

ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อันตรายจากเครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ บางรายจะสะสมในร่างกาย มีผลกับปลายเส้นประสาทอักเสบ บางรายทำให้ไตเสื่อม บางรายที่ใช้ต้องการทำให้หน้าขาวกลับทำให้หน้าด่างและเป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย ซึ่งสารที่ทำให้ผิวขาวเหล่านี้ เบื้องต้นจะได้ผลเร็ว แต่ระยะยาวผิวจะแตกลายงาถาวรแก้ไขไม่ได้ ส่วนเว็บไซต์ที่ขายเครื่องสำอางออนไลน์ผิดกฎหมาย ทาง อย. จะประสานกับตำรวจและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำการปิดเว็บไซต์ต่อไป

ayy2

ทั้งแนะนำการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากหลักแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากภาษาไทย เลขจดแจ้ง 10 หลัก ชื่อที่อยู่ผู้ผลิตที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ตรวจเลข อย.” สแกนตรวจสอบด้วยกล้อง เสียง และตัวอักษร อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ให้ส่งตรวจสอบที่สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ทางสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด

ด้าน พ.ต.อ. ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รอง ผบก.ป.รรท.ผบก.ปคบ.กล่าวว่า จากการสอบสวนนายสกนท์ หงส์หาด อายุ 37 ปี รับสารภาพว่าทำมาประมาณ 1 ปี จึงได้แจ้งข้อหาผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ผลิตเครื่องสำอางปลอม ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้ง

"การผลิตเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ครบถ้วน และผลิตเครื่องสำอางแสดงฉลากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนี้จะนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินคดีที่ บก.ปคบ.ต่อไป"

e-book-1-503x62-7