ยืดผ่อนค่างวด 1800! กสทช. เอาใจเอกชนร่วมประมูล

01 พ.ย. 2561 | 09:49 น.
จบประเด็นดราม่าคลื่น 900 MHz ภายหลังจากที่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัทในเครือดีแทค แบบไม่ต้องเคาะราคาแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น โดย DTN เสนอราคาครั้งสุดท้ายที่ 38,064 ล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เตรียมนำคลื่น 1800 ที่จัดสรรออกไปไม่หมด จำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์ นำมาออกประมูลภายในปี 2562 อีกด้วย

ในที่สุดการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2561 ผ่านพ้นไปด้วยดี เมื่อ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยจำนวนเงิน 38,064 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,728,480,000 บาท ในช่วงคลื่นความถี่ (890-895/ 935-940 MHz) คลื่นความถี่ 1 ชุด คลื่นความถี่ ขนาด 2x5 MHz อายุใบอนุญาต 15 ปี


จ่ายค่างวด 4 งวด
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในรอบนี้ เงื่อนไขการชำระเงินนั้น กสทช. ได้กำหนดให้ผู้ชนะประมูลคลื่น คือ DTN ต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่นงวดที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 4,020,000,000 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 281,400,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระในงวดที่ 1 ทั้งสิ้น 4,301,400,000 บาท ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุม กสทช. มีมติรับรองผลการประมูล และต้องดำเนินการก่อนการได้รับอนุญาตแล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย

ส่วนงวดที่ 2 ชำระ 2,010,000,000 บาท งวดที่ 3 ชำระ  2,010,000,000 บาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูล ส่วนที่เหลือทั้งหมด


จ่อขายคลื่น 1800
แม้จะจัดสรรคลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปได้หมด แต่ทว่าคลื่น 1800 MHz กลับยังคงเหลือในสต๊อกอีกจำนวนหนึ่ง


MP20-3414-A

นั่นจึงเป็นที่มาที่ กสทช. เตรียมวางโรดแมปจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายในปี 2562


จูงใจขยายค่างวด 10 ปี
ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่เหลืออยู่ 7 ใบอนุญาต จำนวน 35 MHz นั้น จะนำมาจัดการประมูลอีกครั้งในปี 2562 โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การขยายงวดการชำระเงิน จากการชำระ 3 งวด เป็นระยะเวลา 4 ปี ปรับเป็น 8-10 ปี เพื่อจูงใจให้ผู้ให้บริการร่วมเข้าประมูลในครั้งต่อไป ซึ่งยังคงยืนยันราคาตั้งต้นเดิม และไม่สามารถปรับลดราคาลงได้ ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz นั้น อยู่ในกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่


"ดีแทค" สัญญาว่าจะไม่หยุด
ส่วนทางด้านดีแทค หลังบริษัทลูก คือ DTN ได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ได้ออกแคมเปญโฆษณา "เราสัญญา
ว่าจะไม่หยุดพัฒนาเครือข่ายให้ดีขึ้น และจะเร่งขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อลูกค้าดีแทคของเราทุกท่าน"

ขณะที่ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จากการที่ดีแทคได้คลื่น 900 MHz ในการประมูลล่าสุด ทำให้ดีแทคมีคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งคลื่นย่านความถี่ตํ่า (Low-Band Spectrum) และคลื่นย่านความถี่สูง (High-Band Spectrum) จากการถือครองใบอนุญาต 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz และให้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอที ที่ดีแทคเป็นพันธมิตร ทำให้ดีแทคมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการทั้งหมด 110 MHz

อย่างไรก็ตาม การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุด
ระยะเวลาคำสั่งของศาลปกครองกลางที่คุ้มครองการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่นความถี่ 850 MHz จากที่กำหนดให้ใช้งานหลังสิ้นสุดสัมปทานได้ถึง 15 ธ.ค. นี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ กสทช. ที่ให้ผู้ชนะประมูลสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แทนคลื่น 900 MHz ต่อไปได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

"วันนี้ คือ ก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของดีแทค ที่ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาเพื่อให้บริการกับลูกค้าของเรา โดยคลื่นย่านความถี่ตํ่าจะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ใช่แค่เพียงในเมือง แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพเพื่อลูกค้าดีแทคทุกที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล" นางอเล็กซานดรา กล่าว


ได้ค่าคลื่น 3.7 แสนล.
สำหรับคลื่นความถี่ที่ กสทช. ได้ให้ใบอนุญาต ประกอบด้วย คลื่นความถี่ 2100-1800 และ 900 MHz โดยผู้ประกอบการโทรศัพท์ทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัททรูฯ และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค คิดเป็นค่าใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กสทช. ตั้งเป้าจะขายคลื่น 1800 ในส่วนที่เหลืออีก 7 ใบอนุญาต พร้อมกับแคมเปญที่จูงใจแล้ว

หากแต่ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า กสทช. มีแผนให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5จี เช่นเดียวกัน ซึ่งในช่วงเวลานี้ได้เจรจาขอคลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 60 MHz กับ อสมท เพื่อขอคลื่นคืน เช่นเดียวกับคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นทีวีระบบอนาล็อกหลังช่อง 3 และ 7 สิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5จี


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62-7