มธ.ดันศูนย์พัทยาตั้งเขตส่งเสริม ผุดการแพทย์ครบวงจร8พันล.

08 พ.ย. 2561 | 06:00 น.
ม.ธรรมศาสตร์ จี้ “อุตตม” ชงบอร์ดอีอีซี ดันจัดตั้งศูนย์พัทยา เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ หวังใช้สิทธิประโยชน์ ดึงนักลงทุนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์ครบวงจร และการวิจัยเบื้องต้นประเมินเม็ดเงินลงทุน 8 พันล้านสร้างโรงพยาบาล

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เข้าหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) เพื่อจะขอให้กบอ.พิจารณายกระดับศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนเนื้อที่ 565 ไร่ ในตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือ“เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ Thammasat EEC” ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เห็นชอบในหลักการที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กบอ. แล้ว

[caption id="attachment_339974" align="aligncenter" width="503"] เกศินี วิฑูรชาติ เกศินี วิฑูรชาติ[/caption]

โดยภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของ กบอ.ต่อไป ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบในเดือนธันวาคม 2561

สำหรับกรอบการดำเนินงานของเขตส่งเสริมฯดังกล่าว ในช่วง 5 ปีแรก ประกอบด้วย ระยะแรกจะจัดตั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ที่จะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางขนาด 300 เตียง ให้บริการด้านศูนย์จักษุ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ทางเดินอาหาร ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์ Wellness และกายภาพบำบัด ศูนย์ผิวหนัง เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัยทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในส่วนนี้จะต้องขอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเข้ามาดำเนินการสนับสนุนในวงเงิน 2,600 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันศูนย์พัทยา ได้ใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคาร 10 อาคาร ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 80% รวมพื้นที่ใช้สอย 24,000 ตารางเมตร ที่จะเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมชั้นสูงด้านต่างๆ อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต โทรคมนาคมอัจฉริยะ ในบรรยากาศ Co-Working Space เพื่อให้โอกาสสำหรับนักลงทุนและสตาร์ตอัพหน้าใหม่เข้ามาลงทุน ซึ่งหากได้รับการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนสนใจเข้ามาใช้บริการมากขึ้นได้

090861-1927-9-335x503-8-335x503

ส่วนะระยะที่ 2 จะเป็นการจัดตั้งสถาบันวิจัยการแพทย์ขั้นสูง วางแผนในการจัดการเรียนการสอน 7 สาขา โดยจะขยายโรงพยาบาลเฉพาะทางเน้นด้านสมอง หัวใจ ขนาด 300 เตียงเพื่อเป็นสถานฝึกหัดแพทย์ของวิทยาลัย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการลงทุนในลักษณะภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนหรือพีพีพี งบประมาณราว 2,400 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชนที่สนใจแล้ว เช่น เซี่ยงไฮ้ไชนีส เมดิคอล เป็นต้น

สำหรับระยะที่ 3 จะเป็นการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ครบวงจร จะประกอบด้วย ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ชั้นสูง ศูนย์วิจัยทางยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การดูแลผู้สูงวัย ในส่วนนี้จะเป็นการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในรูปพีดีพีเช่นกัน คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเอกชนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงศูนย์ธรรมศาสตร์พัทยา ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561 e-book-1-503x62-7