ไขปมร้อน! ร่าง พ.ร.บ.ยา หวั่นเปิดช่อง อย. คอร์รัปชัน

02 พ.ย. 2561 | 07:52 น.
ไขปมร้อน! ร่าง พ.ร.บ.ยา จับตา 3 ประเด็น "การจัดเก็บรายได้ตรง-เกณฑ์มาตรฐานผลิตต่างชาติ-วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้" หลัง อย. มัดมือชกแก้ 18 มาตรา พร้อมเดินหน้ายื่นคณะรัฐมนตรี 'บิ๊กตู่' ต้นเดือน พ.ย. นี้

การประกาศถอนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลเพื่อดำเนินการทบทวนและปรับปรุงร่างในบางมาตราให้เกิดความเหมาะสมและชัดเจน ทั้ง ๆ ที่มีการแก้ไขหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มเภสัชกร แต่ดูเหมือนว่า การประชุมที่มีขึ้นในวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงในบางมาตราให้เหมาะสมและชัดเจน จนที่สุดได้แก้ไข 18 มาตรา ของ "ร่าง พ.ร.บ.ยา" นี้ เพราะเห็นว่าเป็นสาระสำคัญที่ต้องผลักดันและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีชุดนี้อย่างเร่งด่วน ยังคงเกิดข้อกังขาในหลายประเด็น


รูปท่านเลขาฯ

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ภก.ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และเลขาธิการกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ที่ทำการศึกษาถึงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... นี้มาอย่างถี่ถ้วน ถึงผลกระทบและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับ "ผู้บริโภค" ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึง


หวั่นเปิดช่องคอร์รัปชัน
ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ เป็นการปรับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีทั้งหมด 228 มาตรา มีหลายมาตราที่ยังขาดความชัดเจนและเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการร้านขายยา โรงงานผู้ผลิต ตลอดจนผู้บริโภค ซึ่งการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา นี้ ทั้ง 18 มาตรา ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นคงด้านยาของประเทศแข็งแกร่งขึ้น แต่จะค่อย ๆ ทำลายความมั่นคงด้านยาของประเทศ ทำลายเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศด้านยา ซึ่งผู้ที่คิดร่าง พ.ร.บ.ยา นี้ ไม่ได้เอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวตั้ง

 

[caption id="attachment_339944" align="aligncenter" width="377"] ผศ.ดร.ภก. ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา ผศ.ดร.ภก. ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา[/caption]

มีหลายมาตราที่มีการแก้ไข ทำให้เกิดช่องว่างและอาจจะส่งผลกระทบระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 6 ที่ให้เพิ่มความในมาตรา 11/1, 11/2, 11/3 และ 11/4 ซึ่งทั้ง 4 มาตราย่อย ที่จะมีปัญหาที่สุด คือ มาตรา 11/3 เรื่องค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่าย ที่เมื่อจัดเก็บได้ให้เงินตกเป็นของ อย. หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยไม่ต้องส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเงินส่วนนี้ควรจะเป็นรายได้ของแผ่นดิน ไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่สามารถเบิกจ่ายใช้ได้เอง เปิดช่องให้เกิดคอร์รับชันได้ ถือเป็น Risk Management

"ผมไม่ได้มองว่าผู้บริหารชุดนี้จะเกิดการคอร์รัปชัน แต่กฎหมายนี้มีช่องโหว่ ทำให้มีโอกาสคอร์รัปชันได้ง่ายในอนาคต ดังนั้น การปรับแก้กฎหมายควรคำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาของประชาชนเป็นหลัก"

ขณะเดียวกัน มีการปรับแก้เรื่องของการขึ้นทะเบียนตำรับยา มีการกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ ทั้งใบอนุญาตผลิตยา ใบอนุญาตขายส่งยา ใบอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยา ฯลฯ ข้อกำหนดเหล่านี้ ล้วนทำให้ อย. มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการคนไทย ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิตยา ร้านขายยา และผู้บริโภคที่อนาคตต้องซื้อยาที่แพงขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีต้นทุนยาที่สูงขึ้น


ยกมาตรฐานต่างชาติคุมไทย
อีกมาตรา คือ มาตรา 8 ที่ให้เพิ่มเป็นมาตรา 78/1 ... ที่ให้สิทธิ์รัฐมนตรี/คณะกรรมการ เห็นชอบในการแก้ไขและยกเลิกมาตรฐานการผลิต ขาย นำเข้า ยาหรือผลิตภัณฑ์ยา โดยอาจกำหนดให้ใช้หรืออ้างอิงมาตรฐานของต่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศได้นั้น จะส่งผลต่อโรงงานผู้ผลิตยาของคนไทย ที่ต้องอ้างอิงมาตรฐานต่างชาติ ซึ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดมาเพื่อบีบรัดผู้ประกอบการคนไทย แม้ทุกวันนี้โรงงานเหล่านี้จะมีมาตรฐานการผลิต เช่น GMP ตามที่ อย. กำหนดแล้ว ก็ไม่เพียงพอ และการจะได้มาตรฐานต่างชาติ ต้องลงทุนใช้เงินก้อนโต ซึ่งทุกวันนี้ผู้ประกอบการคนไทยต้องแข่งขัน ทั้งการวิจัย ศึกษา และพัฒนา เพื่อคิดค้นยาใหม่ ๆ แข่งกับต่างชาติอยู่แล้ว

"มองในเชิงบวก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะโรงงานผู้ผลิตยาจะมีมาตรฐานที่สูงขึ้น แต่ทุกอย่างต้องใช้เงิน วันนี้ไม่มีโรงงานผลิตยาของไทยที่สามารถต่อสู้แข่งขันกับบริษัทยาจากต่างประเทศได้ เห็นได้จากในอดีตที่มีโรงงานผลิตยาของคนไทยอยู่กว่า 250 โรง ปัจจุบัน ลดลงจากการปิดกิจการไปเหลือเพียง 160 โรงเท่านั้น อนาคตเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ยา ก็ต้องนำเข้ายาจากจีน เมียนมา กัมพูชาแทน ซึ่งถามว่า คุณภาพล่ะเป็นอย่างไร"


ชี้คนไทยเสี่ยงบริโภคยารอบด้าน
ผศ.ดร.ภก.ไกรสร กล่าวยํ้าว่า วันนี้คนไทยต้องอยู่กับความเสี่ยง เพราะยาใด ๆ ก็ตามใช่ว่าจะปลอดภัย 100% การเปิดโอกาสให้วิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์คลินิก แพทย์โรงพยาบาลเอกชน จ่ายยาหรือผลิตยาเองได้ โดยไม่ต้องระบุชื่อยา ส่วนผสมของยาได้ ทุกวันนี้จึงเกิดคลินิกยา คลินิกความสวยความงามมากมาย แต่ปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อเกิดอาการแพ้ก็ไม่รู้ถึงสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่หากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องออกใบสั่งยา ก็จะมีการระบุตัวยา ชื่อยา เมื่อเภสัชกรสั่งจ่ายก็จะมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง โอกาสที่จะสั่งจ่ายยาผิดพลาด หรือ เกิดการแพ้ยาก็จะลดน้อยลง


S__8495114

การยกเว้นให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถสั่งจ่ายยาได้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง และส่งผลกระทบทำให้ร้านขายยาเดี่ยวของเภสัชกรไม่สามารถอยู่ได้ และเป็นผลดีต่อร้านขายยาขนาดใหญ่ที่สามารถลงทุนขยายสาขาทั่วประเทศได้

"ผศ.ดร.ภก.ไกรสร" บอกทิ้งท้ายว่า วันนี้ยังต้องเฝ้าดูการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ยา นี้ในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะสรุปผลออกมาก่อนวันที่ 3 พ.ย. เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งผลที่ออกมาไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง คงเป็นไปตามที่ อย. วางไว้ แต่หน้าที่ของนักวิชาการจะยังคงเดินหน้าสร้างความถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด


หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62-7