'ไทยพีบีเอส' ทุ่มพันล้าน! เพิ่มคอนเทนต์-ออนไลน์

02 พ.ย. 2561 | 07:38 น.
'ไทยพีบีเอส' เดินหน้าปรับตัวรับอุตฯทีวีแข่งดุ ทุ่มงบกว่า 1 พันล้านบาท พัฒนาคอนเทนต์ ตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำช่องข่าวสารและสาระ พร้อมขยายฐานผู้ชมไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์

นางวิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมทีวียังคงแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ที่เข้ามา ส่งผลให้ไทยพีบีเอสต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก ทั้งในด้านของคอนเทนต์และการให้ความสำคัญกับสื่อใหม่ หรือ "สื่อออนไลน์" มากขึ้น ขณะเดียวกันไทยพีบีเอสยังคาดหวังการเป็นผู้นำช่องทีวีด้านข่าวสารและสาระต่อเนื่อง รวมถึงการขยายผู้ชมไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย

ด้านงบประมาณการผลิตคอนเทนต์และขยายช่องทางออกอากาศใหม่ ไทยพีบีเอสได้มีงบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่ จำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น งบด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ 60% และงบสำหรับการดำเนินงาน 40% โดยเตรียมใช้งบ 1,130 ล้านบาท สำหรับลงทุนด้านการผลิตคอนเทนต์และขยายช่องทางออกอากาศผ่านสื่อใหม่ หรือประมาณ 87% จากงบด้านยุทธศาสตร์ ขณะที่ ปีหน้าจะเพิ่มสัดส่วนงบเป็น 90% ของงบยุทธศาสตร์ โดยในงบดังกล่าวจะแบ่งเป็นด้านการผลิตคอนเทนต์ข่าวสารและสาระ 78% การขยายแพลตฟอร์มใหม่ เช่น แอพพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย 19%

 

[caption id="attachment_339936" align="aligncenter" width="384"] วิลาสินี พิพิธกุล วิลาสินี พิพิธกุล[/caption]

ทั้งนี้ ในด้านกลยุทธ์ของไทยพีบีเอส ได้วางคีย์ซักเซส 3 ด้าน คือ 1.การมุ่งเน้นเนื้อหาข่าวสารและสาระที่มีคุณภาพต่อสาธารชน 2.การพัฒนารายการสารคดีให้มากขึ้น เพิ่มความรู้ให้ประชาชน ซึ่งในอนาคตคอนเทนต์ประเภทนี้จะมีการวางแผนขายไปสู่ตลาดต่างประเทศ 3.เข้าถึงผู้ชมในรูปแบบแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งในปลายปีนี้ ไทยพีบีเอสได้เตรียมเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้ชมโดยผ่านแอพพลิเคชันเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

สำหรับในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอประเด็นวิถีชีวิตผ่านรายการ "สะเทือนไทย" และมุมมองต่างประเทศผ่านรายการ East View "ทรรศนะบูรพา" และในไตรมาส 4 เราวางการสื่อสารวาระปฏิรูปการเมืองผ่านรายการ "ว่าที่นายก" Change Thailand ในรูปแบบเรียลลิตีการเมือง เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบการเมืองไทยด้วยวิธีคิดของ "คนรุ่นใหม่" ยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ตื่นตัวในการมีส่วนร่วม รักษาสิทธิเสรีภาพ และกระตุ้นจิตสำนึกของนักการเมืองรุ่นใหม่และประชาชนทั้งประเทศ และสื่อสารวาระปฏิรูปการศึกษา ผ่านรายการ "ฉันจะเป็นครู" I WANT TO BE A TEACHER




56

"ไทยพีบีเอสวางแผนนำเสนอช่องไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะให้มีบทบาทมากขึ้น นอกเหนือจากหน้าจอทีวี นั่นคือ การเป็นสถาบันขับเคลื่อนสังคมร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ "ไทยพีบีเอส 2561 วาระปฏิรูป" ซึ่งมีแนวคิดปฏิรูปเริ่มต้นที่ตัวเรา เปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้ผลิตละคร "ฝันให้สุด" Dream Teen โดยมุ่งนำเสนอเรื่องราวอีกมุมหนึ่งของเหล่าเด็กอาชีวะ ที่ไม่ได้มีแค่มุมลบอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยผู้จัดตั้งใจให้ละครเรื่องนี้ตีแผ่ถึงความตั้งใจอันดีงามของเหล่านักเรียนอาชีวะที่สังคมอาจจะมองข้าม ในหลาย ๆ มุมมอง เพื่อเปิดมิติใหม่ต่อสังคม ทลายกำแพงที่หลายคนยังอคติอยู่ เปิดใจให้โอกาสและสนับสนุนนักเรียนอาชีวะไทย แล้วคุณจะเห็นว่า "อาชีวะก็มีดีไม่แพ้ใคร" โดยจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 17 พ.ย. นี้


หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62-7