คุมเข้ม! รับมือ "อหิวาต์สุกร" ผวาแพร่เข้าไทย

30 ต.ค. 2561 | 08:35 น.
37634001_670597409968473_6536434015371526144_n
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. ถึง 23 ต.ค. 2561 มีรายงานเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสาธารณรัฐประชาชนจีน สะสมจำนวน 46 ครั้ง ใน 30 เมือง 11 มณฑล และ 1 เขตปกครองพิเศษ และเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2561 มีรายงานการเกิดโรคที่มณฑลยูนนาน ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยมีความเสี่ยงของโรคเพิ่มขึ้น กรมปศุสัตว์จึงได้เข้มงวดป้องกันโรคเข้าประเทศ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร ซึ่งมีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค โดยโรคนี้เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่นสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคและไม่สามารถรักษาได้ ในขณะที่ เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูงและสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไส้กรอก แฮม เนื้อสุกร และซาลามีได้ สุกรที่หายป่วยแล้วจะสามารถแพร่โรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้น โรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์


PHOTO-pig-farm-486x503

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 กรมปศุสัตว์ได้ยกระดับการป้องกันโรคเข้าประเทศด้วยเข้มควบคุมเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกร โดยติดตามสถานการณ์โรคในต่างประเทศ ชะลอการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศที่มีการระบาด รวมถึงการตรวจเข้มการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรในทุกช่องทาง ที่ผ่านมา มีการตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรโดยนักท่องเที่ยวในหลายครั้ง เช่น ไส้กรอก เนื้อสุกร ขาหมูรมควัน ส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้มีแผนเพิ่มเติมด้วยการสุ่มตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส สำหรับช่องชายแดนได้เพิ่มจุดทำลายเชื้อโรคเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อไวรัส  ซึ่งขณะนี้ ยืนยันว่ายังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย


090861-1927-9-335x503-8-335x503

อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกรณีเกิดโรคดังกล่าว โดยมีการประชุมหารือกับนักวิชาการ ผู้แทนเกษตรกร ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำแผนเผชิญเหตุและแนวปฏิบัติของฟาร์มเพื่อรับมือโรคนี้ ขณะนี้ ห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ ซึ่งสิ่งสำคัญในการป้องกันการเสียหายจากมหันตภัยของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของเกษตรกร คือ การป้องกันโรค เพราะหากมีโรคเข้าฟาร์มแล้ว เกษตรกรจะสูญเสียการผลิตสุกรทั้งหมด ทั้งนี้ พื้นฐานการป้องกันโรคเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งเกษตรกรรายย่อยควรยกระดับเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM)

ส่วนฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ให้ผลักดันเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดยให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สำนักงานปศุสัตว์ อำเภอที่ฟาร์มตั้งอยู่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อความทั่วถึงในการดูแลจากภาครัฐ เกษตรกรต้องดูแลสุขภาพสุกรให้มีสุขภาพดี หากนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มา ที่มั่นใจว่าไม่มีโรคระบาดและแยกเลี้ยงสุกรก่อนนำเข้ามาเลี้ยงรวมกับสุกรที่เลี้ยงอยู่เดิมอย่างน้อย 14 วัน เพื่อสังเกตสุขภาพร่วมกับการจัดการป้องกันโรค ได้แก่ มีสถานที่สำหรับขายสุกรภายนอกฟาร์ม ไม่ให้บุคคลหรือยานพาหนะที่อาจสัมผัสกับสุกรป่วย ได้แก่ การขนสุกรเข้าโรงฆ่า เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด


PIG-1-503x335

สำหรับบุคคลและยานพาหนะอื่น ๆ ภายนอกฟาร์ม ไม่ควรให้เข้าฟาร์มเช่นกัน ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าฟาร์ม ให้มีการล้างทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคก่อน โดยจัดให้ใช้รองเท้าที่ใช้ในฟาร์มเท่านั้น เจ้าของหรือคนเลี้ยงไม่ไปฟาร์มสุกรหรือโรงฆ่า ถ้าจำเป็นให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดและไม่เข้าฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกรเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน และไม่นำอาหารที่ผลิตจากสุกรหรือเนื้อสุกรเข้ามาในฟาร์ม สำหรับรายย่อยที่ใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกร ไม่ควรใช้เศษอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรและต้มให้เดือดนานอย่างน้อย 30 นาที

ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผิวหนังเป็นปื้นแดง และมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center 063-225-6888 หรือแอพพลิเคชัน DLD 4.0 "แจ้งการเกิดโรคระบาด" เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก