เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

30 ต.ค. 2561 | 09:52 น.
 

เมกะ-2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนา “ผังเมืองใหม่ เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม.” โดยได้รับเกียรติจากนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม : กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน” ซึ่งได้ฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางอยู่ที่อันดับ 44 ของโลกถือว่าตํ่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อีกทั้งยังส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 14% ของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ทำให้การส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศที่ 3 ต้องเสียศักยภาพการแข่งขันไปมาก สู้ราคาเพื่อนบ้านไม่ได้เพราะไทยมีต้นทุนขนส่งที่สูงกว่า

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญต่อการเร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระบบคมนาคมขนส่ง 20 ปีโดยมีกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง 4 เรื่องที่เน้นในเรื่องการผลักดันระบบรางทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ยังเร่งการลงทุนรถไฟทางคู่มูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาทเพื่อเพิ่มระยะทางของระบบรางอีกกว่า 3,000 กม.ทั้งระบบรถไฟทางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายที่จะเชื่อมไทย -สปป.ลาว และจีน ซึ่งจะเชื่อมเศรษฐกิจของประเทศ และยังเชื่อมอนุภูมิภาคได้อีกด้วย
TO__2985 เร่งแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี

นอกจากเร่งขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม 20 ปีแล้วยังกำหนดแผนยุทธศาสตร์ระยะ 8 ปีงบลงทุน 1.9 ล้านล้านบาท  (2558-2565) ที่ปัจจุบันเดินหน้าแผนนี้ไปแล้ว จำนวน 111 โครงการใน 5 แผนงานควบคู่ไปกับแผนปฏิบัติการแต่ละปีเพื่อเร่งผลักดันโครงการลงทุนระบบรางในเมืองหลวงอย่างรถไฟฟ้าซึ่งเป็นอีกยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้จราจรเมืองหลวงได้อย่างดี โดยตามแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 1 จะเปิดบริการครบ 12 เส้นทางภายในระยะเวลา 10 ปีนับจากนี้ หรือครบในปี 2572 ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการต่อวัน 5.13 ล้านคน อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (M-Map2) ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จะสนับสนุนสถานีกลางบางซื่อสู่การเป็นศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับอาเซียน ด้วยรูปแบบการพัฒนา TOD และสมาร์ทซิตี

โดยภายใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะมีการเสนอโครงการรถไฟฟ้ามูลค่ากว่า  2  แสนล้านบาทให้ ครม.อนุมัติ เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) ในเดือนพฤศจิกายนก่อนเสนอเข้าสู่ครม.ในช่วงปลายปีนี้ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะวงเงิน 1.1 แสนล้านบาท จะเสนอเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) ในเดือนพฤศจิกายนก่อนเสนอเข้าสู่บอร์ดพีพีพีและครม.ช่วงปลายปีนี้อีกเช่นกัน


นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ที่ล่าสุดผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเร่งเสนอครม.เห็นชอบต่อไป ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 7.4 พันล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.5 พันล้านบาท รวมวงเงินลงทุนกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

โดยการพัฒนาการคมนาคมในเมืองนั้นต้องเชื่อมไร้รอยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นการเปลี่ยนวิธีการเดินทางของคนกทม. ขณะนี้ทุกโครงการกำลังเดินหน้าและเร่งรัด รอลงนามสัญญาและเตรียมเสนอครม.เร่งผลักดันต่อเนื่องกันไป
tp12-3413-a ลงทุนมอเตอร์เวย์ 3 แสนล.

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่าในอนาคตระยะ 5 ปีนับจากนี้ได้วางแผนลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ ในวงแหวนรอบกทม. รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 3.54 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและแก้ปัญหารถติดในโครงข่ายถนนหลักปริมณฑล  การลงทุนนั้นจะเน้นไปที่โซนด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร จะเน้นรูปแบบการร่วมทุนกับภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อลดภาระงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ

โดยแผนลงทุนจะเริ่มในปี 2562 ประกอบด้วย 1.โครงการมอเตอร์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 108 กม. วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท 2.โครงการมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บางใหญ่-บางบัวทอง- บางปะอิน ระยะทาง 70 กม. วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท 3.โครงการทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 15 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท 4.โครงการส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท 5.โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท

ร.ฟ.ท.เร่งสายสีแดง

ในครั้งนี้ นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ฉายภาพให้เห็นถึงแผนการพัฒนาและขยายโครงข่ายระบบราง โดยเฉพาะรถไฟสายสีแดง ที่เชื่อมพื้นที่โซนรังสิต-บางซื่อ-มหาชัย ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเร่งเปิดให้บริการช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันและบางซื่อ-รังสิตในปี 2564 โดยสายสีแดงจากตลิ่งชันไปสิ้นสุดที่หัวหมาก อีกทั้งยังมีแผนจะขยายไปถึงฉะเชิงเทรา เพื่อจะขนคนจากปริมณฑลเข้า-ออกเมืองนั่นเอง

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น แปลงสถานีกลางบางซื่อรวมพื้นที่ 2,300 ไร่ ที่ดินแปลง A พื้นที่ 32 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทมีความพร้อมดำเนินการได้แล้ว คาดว่าร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)จะประกาศในเดือนมกราคม 2562 จะก่อสร้าง 4 ปี โดยเฟสแรกจะแล้วเสร็จช่วงใกล้เปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในเดือนมกราคม 2564

เช่นเดียวกับที่ดินแปลง กม.11 โซนด้านหลังปตท. ขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่จะพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับความเห็นบางประเด็นเสนอเข้าสู่การพิจารณาบอร์ดร.ฟ.ท. ในส่วนที่ดินแปลงสถานีแม่นํ้า ขนาด 277 ไร่ จะพัฒนาเป็นเกตเวย์ทางนํ้า รองรับเรือครุยส์ขนาดกลางเข้า-ออกได้ เป็นมูลค่าโครงการ 6-7 หมื่นล้านบาท พื้นที่มักกะสัน มีพื้นที่ราว 370 ไร่ที่รวมโรงงานรถไฟเอาไว้ด้วย แบ่งเป็นแปลง A, B, C, D ซึ่งแปลง A จะเชื่อมกับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าช่วงต้นปี 2562 จะได้ตัวผู้รับจ้าง ประการสำคัญโซนฝั่งธนบุรีของรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังจะมีที่ดินราว 100 ไร่ในพื้นที่สถานีบางกอกน้อยมีแผนที่จะนำไปพัฒนารูปแบบรอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD อีกด้วย

| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3413 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.2561
595959859