บสย. ตื่นพัฒนาระบบไอที! หวังปลอดล็อกเคลมประกัน

02 พ.ย. 2561 | 05:17 น.
บสย. นำระบบไอทีปรับใช้การพิจารณาการค้ำประกันทั้งหมด หวังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ยัน! มีวงเงินเพียงพอสำหรับการขอเคลมจากสถาบันการเงิน ระบุ NPLs จริง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5%

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า บสย. ได้ดำเนินการนำเทคโนโลยีทางด้านไอทีมาปรับประยุกต์กับการให้บริการในการพิจารณาการค้ำประกันทั้งหมด จากเดิมที่จะเป็นระบบใช้เอกสาร หรือ ใช้แบบอย่างละครึ่งกับระบบดิจิตอล ให้เป็นแบบดิจิตอลมากขึ้น ตั้งแต่การส่งใบคำขอที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นแบบ 100% รวมไปถึงการออกใบการันตีที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์และการยื่นใบขอเคลมที่จะเป็นแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้นกระบวนการทั้งหมดของ บสย. ในอนาคตอาจจะเรียกได้ว่าเกือบ 100% จะเป็นระบบออนไลน์


S__9961475

"เรามีแอพพลิเคชันที่สามารถเซ็นที่สาขาของธนาคารได้เลย หลังจากนั้นธนาคารจะส่งแอพมาที่เรา โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาเอง เราก็พิจารณาแล้วจบเลย เพราะฉะนั้นลูกค้าไปที่เดียว เรียกว่า วันสต็อปเซอร์วิสที่สาขาธนาคาร ยื่นความจำนงขอกู้เงิน พูดคุยเรื่องเงื่อนไขของการกู้เงิน ดูเรื่องเงื่อนไขการผ่อนชำระ ดูเรื่องหลักประกัน กรณีไม่มีหลักประกัน หรือ หลักประกันไม่เพียงพอ บสย. ช่วยตรงนั้นได้ไหม ประเด็นนี้ง่ายมาก การขอให้ บสย. เป็นผู้ค้ำก็เพียงแค่เซ็นใบคำขอ ไม่ต้องมีบ้าน ไม่ต้องมีที่ดิน ไม่ต้องมีผู้มาค้ำเพิ่ม เซ็นใบคำขอ ธนาคารก็จะรวบรวมใบคำขอพร้อมเอกสารที่เราต้องการ ส่งมาที่ บสย. เอง ลูกค้าไม่ต้องมาส่ง เพราะฉะนั้นกระบวนการก็จะเร็วมาก"

ขณะที่ ประเด็นปัญหาเรื่องการขอเคลมประกันนั้น บสย. พยายามพัฒนาระบบกระบวนการขอเคลม โดยทำให้ง่ายมากขึ้น ด้วยการทำเอกสารเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้ระบบออนไลน์เคลมมิ่ง ซึ่งจะทำให้การพิจารณาเป็นไปตามลำดับ ช่วยทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่วนเรื่องเงินงบประมาณยิ่งไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกปีค่าใช้จ่ายในการเคลมจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมที่ บสย. สามารถจัดเก็บได้อยู่แล้ว และ 2.งบประมาณ ซึ่งตามระบบงบประมาณ บสย. จะได้ปีละ 2 ครั้ง โดยจากการวางแผนการทำงานก็จะตรงกับเป้าหมายในการเคลมแต่ละรอบ ซึ่งเงินที่ บสย. ได้รับ เพื่อให้ความมั่นใจกับระบบธนาคาร หรือ ผู้ที่ใช้ บสย. ค้ำประกัน


523D9531-0D4A-44D6-86DE-46F8B2E119FB

"ส่วนใหญ่ บสย. จะนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่เงินจะสูญหายจึงไม่มี เพราะฉะนั้นเพื่อให้ความมั่นใจกับทางธนาคารว่า เวลาที่ธนาคารให้ บสย. ค้ำประกัน แล้วเกิดปัญหาหนี้เสีย เมื่อมาขอเคลมกับ บสย. เรามีเงินแน่นอน โดยปัจจุบัน บสย. มีวงเงินให้เห็นเลยว่า มีเงินอยู่จำนวนเท่าไหร่ เพียงพอต่อการเคลมหรือไม่ เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องการเคลมจึงไม่มีอย่างแน่นอน"

นายวิเชษฐ กล่าวต่อไปอีกถึงประเด็นเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ด้วยว่า ปัจจุบันมี NPLs อยู่ที่ระดับประมาน 14% ซึ่งเป็นมูลค่าโดยรวมทั้งหมดของสถาบันการเงิน หรือ ตัวเลข NPLs ที่ยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย เพียงแค่ลงทะเบียนขอเคลมการค้ำประกันไว้ และยังไม่ได้เป็น NPLs ของ บสย. ส่วนหนี้เสียที่มาขอเคลมกับ บสย. อย่างแท้จริง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.5%

"บสย. มีกระบวนการให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยที่ บสย. พร้อมที่จะยืดหยุ่น เนื่องจากมีความเป็นห่วงลูกหนี้ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลทำให้ NPLs โดยรวมของสถาบันการเงินปรับลดลง ซึ่งตัวเลข 14% เป็นตัวเลขที่สูง แต่ตัวเลขขอเคลมจริงที่เป็นหนี้เสียจะเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง"


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3414 วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561

บาร์ไลน์ฐาน