ปิดตำนาน 'เจ้าสัววิชัย' มหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักร 1.6 แสนล้าน

01 พ.ย. 2561 | 05:57 น.
mp22-3414-b
โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของเจ้าสัว "วิชัย ศรีวัฒนประภา" จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก บริเวณลานจอดรถใกล้กับสนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์ สเตเดียม เมื่อคืนวันที่ 27 ต.ค. 2561 หลังจบเกมที่เลสเตอร์ ซิตี้ เสมอ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 1-1 ไม่เพียงสร้างความอาลัยให้แก่ครอบครัวศรีวัฒนประภา พนักงานคิงเพาเวอร์ สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และแฟนบอลทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดตำนานเจ้าพ่อดิวตี้ฟรีและมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย ที่ถือครองทรัพย์สินมากถึง 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 164,724 ล้านบาท จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์


30 ปี ในธุรกิจดิวตี้ฟรี
กว่า 30 ปี ในธุรกิจดิวตี้ฟรี ของ "เจ้าสัววิชัย" เริ่มต้นจากธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง รายแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2532 ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า เพลินจิต โดยเป็นการร่วมทุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งบริษัทดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) แต่ดูเหมือนในอดีตเจ้าสัววิชัยอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในต่างประเทศ จนท้ายที่สุดก็ต้องหยุดให้บริการไป


mp22-3414-a

จากนั้นก็เข้ามาจับธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบิน ด้วยการชนะการประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินแห่งแรก ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อช่วงปี 2536-2549 ภายใต้ชื่อเดิมอย่าง บริษัท เจ.เอ็ม.ที.กรุ๊ป จำกัด และที่ทำให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ ชนะการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ

ทำให้เข้ามาเปิดธุรกิจจนกินพื้นที่เกือบทั้งหมดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี 2549 จากนั้นในทุกครั้งที่หมดสัญญาในสนามบิน คิงเพาเวอร์จะทุ่มเสนอราคาสูงเพื่อให้ได้สัมปทานมา จนปัจจุบัน คิง เพาเวอร์ จึงมีธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินหลักทุกแห่งของไทย ไม่ว่าจะเป็น ที่สนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และสนามบินสุวรรณภูมิ จนกลายเป็นผูกขาดในธุรกิจนี้ไปโดยปริยาย เพราะแต่ละสัญญาอายุยาวนานถึง 10 ปี

เมื่อธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินไปได้ดีมาก ทำให้เจ้าสัววิชัยจึงหันกลับมาขยายการลงทุนดิวตี้ฟรีในเมืองเหมือนเมื่อครั้งอดีต จึงได้เช่าพื้นที่กว่า 31 ไร่ ที่ซอยรางนํ้า จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผุดอาณาจักรคิงเพาเวอร์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีทั้งโรงแรม, ดิวตี้ฟรี และภัตตาคาร และเปิดให้บริการในปี 2552 จากนั้นก็ขยายธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีไปอีกหลายจุดอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 แห่ง คือ ที่สาขาที่ซอยรางนํ้า, พัทยา ศรีวารี และภูเก็ต และกำลังจะมีแห่งที่ 5 หลังจากไม่นานมานี้ได้เข้าไปซื้อตึกมหานคร มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อโครงการ คิง เพาเวอร์ มหานคร ที่จะมีทั้งดิวตี้ฟรี โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยว


kpipk_pics_02



6 บริษัท ขับเคลื่อนรายได้แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเจ้าสัววิชัยในไทย หลัก ๆ จะอยู่ที่ 6 บริษัท คือ คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง ที่ซอยรางนํ้า, พัทยา และศรีวารี ธุรกิจสื่อป้ายไฟโฆษณาภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางนํ้า พร้อมทั้งธุรกิจบริหารโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์, ร้านอาหารรามายณะ และร้านอาหารลามูน

ขณะที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จะทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและสินค้าไทย ที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ส่วน คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ดูแลการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับ คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ ดูแลการขายสินค้าดิวตี้ฟรีบนเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ให้แก่ การบินไทย, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยสมายล์ และไทยแอร์ เอเชียเอ็กซ์  คิง เพาเวอร์ โฮเทล แอนด์เมเนจเมนท์ ทำธุรกิจโรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

โดยรายได้ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ กว่า 90% มาจากธุรกิจดิวตี้ฟรี โดยมียอดขายราว 1 แสนล้านบาท จากรายได้ในปี 2560 ที่คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป มีรายได้อยู่ที่ราว 103,000 ล้านบาท และได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่าจะขับเคลื่อนยอดขายดิวตี้ฟรีในอีก 5 ปีนี้ขึ้นไป แตะระดับ 1.4 แสนล้านบาท เพื่อทำให้ติดท็อป 5 ในธุรกิจปลอดภาษีระดับโลก จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 7 ของโลก


เลสเตอร์ฯ สร้างชื่อไทยเวทีโลก
ส่วนที่พีกสุด ๆ คือ การตัดสินใจซื้อกิจการเลสเตอร์ ซิตี้ จากนายมิลา ดันดาริช ในปี 2553 จากมูลค่าหนี้ 103 ล้านปอนด์ จนปัจจุบัน มูลค่าสโมสรฤดูกาล 2015-2016 เกินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งรายได้หลักที่เจ้าสัววิชัย ได้จากเลสเตอร์ ซิตี้ คือ ค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ที่เพิ่มขึ้นมามากกว่า 100 ล้านปอนด์ จากเริ่มแรกที่อยู่ที่ราว 68-70 ล้านปอนด์ และรายได้ของสโมสรที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องนับจากขึ้นมาอยู่ในพรีเมียร์ลีกสำเร็จ โดยมีรายได้ขยับขึ้นมาเป็นหลายร้อยล้านปอนด์ต่อปี เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ มีรายได้อยู่ที่ราว 10 ล้านปอนด์ หรือราว 530 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งเลสเตอร์ ซิตี้ ยังมีส่วนในการต่อยอดธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น การนำสินค้าแบรนด์เลสเตอร์ ซิตี้ มาขายในดิวตี้ฟรีในไทย และที่สำคัญ คือ การทำให้แบรนด์คิงเพาเวอร์กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก และที่สำคัญ คือ เป็นคนไทยคนแรกที่ทำทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ จนได้แชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2559 และนำชื่อของประเทศไทยและการท่องเที่ยวไทยไปชูธงและสร้างชื่อในระดับโลก ผ่านแมตช์ต่าง ๆ ที่ถูกจัดการแข่งขันขึ้นที่คิงเพาเวอร์ สเตเดี้ยมด้วย


KPG_2144



สารพัดโครงการช่วยสังคม
เจ้าสัววิชัยไม่เพียงประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจเท่านั้น แต่คิงเพาเวอร์ยังได้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมในหลายกิจกรรม ซึ่งรู้จักกันกว้างขวางในฐานะผู้บริจาคเงิน 100 ล้านบาท ในโครงการ "ก้าวคนละก้าว" ร่วมกับ ตูน บอดี้สแลม เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ใน 11 โรงพยาบาล การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกแบบและสร้างห้องนํ้าชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำโครงการพลังคนไทย ห้องนํ้าสุขใจ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งยังเป็นหัวเลี่ยวหัวแรงในการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพนักบอล ผ่านโครงการ "ตามล่าสายพันธุ์จิ้งจอกสยาม" หรือ "Fox Hunt Leicester City Academy" ซึ่งได้ให้ทุนเยาวชนไทยปีละร่วม 100 ล้านบาท ไปศึกษาในระดับไฮสกูลและได้ไปฝึกฟุตบอลกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เพื่อวางรากฐานการเรียนรู้และฝึกฟุตบอลแบบมืออาชีพ และเป็นกำลังสำคัญในการนำพาทีมชาติไทยไปบอลโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าสัววิชัยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำโครงการนี้ต่อเนื่อง โดยหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ หรือ ภายในปี 2569 จะส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการได้รวม 100 คน เฉลี่ยปีละ 10 คน


1432401604573

ไม่เพียงสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมในไทยเท่านั้น แต่ในเมืองเลสเตอร์เอง ตั้งแต่เจ้าสัววิชัยเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ที่ผ่านมาก็ยังบริจาคเงิน 2 ล้านปอนด์ หรือราว 84 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลในเลสเตอร์ และ 1 ล้านปอนด์ให้กับองค์กรต่าง ๆ อีกด้วย

ดังนั้น จากธุรกิจที่ทำมาอย่างยาวนาน ทั้งดิวตี้ฟรีและเรื่องของกีฬาที่ไม่ได้ใช้แค่ฟุตบอล แต่ยังเป็นเจ้าของสนามโปโลกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยไปซื้อในราคา 10 ล้านปอนด์ และเปลี่ยนชื่อเป็น "คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค" ที่มีราชวงศ์อังกฤษมาเล่นโปโลที่สนามแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง และยังได้ร่วมขี่ม้าโปโลกับราชวงศ์อังกฤษด้วย ทำให้เจ้าสัววิชัยจึงถือเป็นบุคคลที่มีคอนเนกชันครบเครื่อง ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ เครือข่ายธุรกิจ ขุมข่ายอำนาจการเมือง เป็นแถวหน้าในหลายแวดวงตั้งแต่วงการกีฬา


รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3414 ระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62-7