ทางออกนอกตำรา : ‘หนี-หลบ-ตกแต่ง’ ไม่ได้ สนช.เปิดมีดรีดภาษีคนตัวเล็ก

27 ต.ค. 2561 | 13:39 น.
หนี-4 ผมอยากชวนประชาชนคนไทยมาติดตามแบบเกาะติดในเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”  ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน 172 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง สนช.ยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 21 คน มีกรอบการทำงาน 60 วัน เรียกว่า สนช.เหยียบคันเร่ง 500 แรงม้า

ถามว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้จึงต้องเกาะติด เพราะกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเก็บภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เต็มที่หนีไม่ได้อีกต่อไป

ที่ผ่านมาธุรกิจของไทยในมาตรฐานการปฏิบัติจริง คนตัวเล็ก คนตัวน้อย คนตัวใหญ่ล้วนแล้วแต่ไซร้ “หนีภาษี” แทบทั้งสิ้น จะหนีด้วยวิธีการตกแต่งบัญชี จะหนีด้วยการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหนีด้วยการทำบัญชีขาดทุน จะหนีด้วยการทำบัญชีหนีเมีย หนีผู้ถือหุ้น หรือหนีด้วยการยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่ ฯลฯ ใครไม่ผ่านหลักสูตรการเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษีมาเลย เขาว่ากันว่า “ไม่ผ่านหลักสูตรการทำธุรกิจเมืองไทย”
TV-B1 แต่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับนี้ ที่มีการแก้ไขกฎหมายแค่ “3-4 ดอก” กลับเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะหนีไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะใช้ดุลพินิจแบบนับชามก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมในการประเมินรายได้ของธุรกิจต่อปี ไม่ได้อีกแล้ว...ขอบอกให้ทราบดังนี้

มาตรา 3 ปัณรส กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้กรมสรรพากรด้วยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงได้ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการนำส่งภาษีและลดขั้นตอนการดำเนินการ อันจะส่งผลให้ลดต้นทุนการประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

มาตรา 3 โสฬส กำหนดเรื่องการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำเอกสารตามประมวลรัษฎากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นวิธีการทั่วไปในประมวลรัษฎากร เพื่อให้อธิบดีสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากรได้โดยตรง
TV-B2 มาตรา 3 สัตตรส กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท นำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษที่อยู่ในครอบครองให้กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคม ของทุกปี โดยธุรกรรมที่มีลักษณะพิเศษครอบคลุมของธุรกรรมในปีที่ผ่านมา ที่มีลักษณะเป็นการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกรมสรรพากรในการเก็บภาษี

ในมาตรานี้กำหนดให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้บริการจ่ายเงินให้บุคคลอื่นตามคำสั่งหรือตราสารเป็นปกติธุระ ต้องนำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีการทำธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร

มาตรา 3 อัฏฐารส ยังกำหนดโทษ สำหรับผู้ฝ่าฝืน ไม่นำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลอื่นใดตามที่กำหนดในร่างแก้ไขฯ กำหนดเป็นโทษทางปกครองและโทษปรับรายงานตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
TV-B3 กล่าวคือหากไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะรายงานข้อมูลให้ถูกต้อง โดยคาดว่ากฎหมายจะได้รับความเห็นชอบจาก สนช. และประกาศผลบังคับใช้ในปี 2562

ผมไปสืบสาวราวเรื่องมาพบว่า กระทรวงการคลังผู้ผลักดันเรื่องนี้หมายมั่นปั้นมือว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถจัดระบบการค้าขายบนโลกออนไลน์ได้รัดกุม ชะงักงันกว่าเดิม

ผู้บริหารกรมสรรพากรบอกผมว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว คือ ร้านค้าออนไลน์ ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ข้าราชการที่ทุจริตมีโอนเงินเข้าบัญชี และธุรกิจผิดกฎหมาย

กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ป้องกันการทุจริตของข้าราชการ และการค้าขายของผิดกฎหมายที่เป็นภัยอันตรายต่อประชาชนและประเทศได้ดีขึ้นมา

ที่ผ่านมามีการออกกฎหมายบังคับให้เฟซบุ๊ก ไลน์ อี-มาร์เก็ตเพลส รายใหญ่เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในเมืองไทย เพื่อให้เสียภาษีให้ถูกต้องแล้ว แต่ผู้ค้าขายยังมีช่องโหว่อยู่
TV-B4 คนทำธุรกิจแยกบัญชีธนาคารส่วนตัวกับบัญชีที่ไว้ขายของไม่ออก ทำกันอย่างไรไม่รู้คำนวณกำไรจากการขายของแล้วขาดทุนทุกปี รายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ยอมไปจดภาษี VAT

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงทำหน้าที่ควบคุมกำกับระบบการชำระเงินไปโดยปริยาย และต่อไปการจ่ายชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายการ ข้อมูลจะถูกส่งไปที่กรมสรรพากรทั้งหมด ทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องรั่วไหลลดลง และการเลี่ยงภาษีทำได้ยากขึ้น

เมื่อระบบอี-เพย์เมนต์เชื่อมต่อกับระบบของกรมสรรพากรอย่างสมบูรณ์ จะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท โดยที่ไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีแม้แต่น้อย ภาษีแวตยังคงเก็บที่ระดับ 7% ได้ยาวครับพี่น้อง

[caption id="attachment_338754" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

แต่บรรดาผู้ค้าขายอี-คอมเมิร์ซ การค้าขายบนโลกออนไลน์ หากมีการซื้อขายสินค้าที่มีออร์เดอร์เข้ามา ไม่ว่าราคาเท่าใดก็ตาม หากมีการโอนเงินกันรวม 3,000 ครั้งต่อปี หรือวันละ 8-9 ครั้ง จะต้องรายงานให้กรมสรรพากรทราบ

หากมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ผู้รับชำระหรือตัวกลางชำระเงินก็ต้องแจ้งกรมสรรพากรทราบ

ใครจะหนี ไผจะเลี่ยง เจ้าหน้าที่จะแอบใช้ดุลพินิจไม่ได้ ครั้นจะบอกว่าทำธุรกิจขาดทุน มียอดขายที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายไม่ได้อีกแล้วขอรับพี่น้องเอร้ย...เพราะมันมีหลักฐานจากบิลโจ๋งครึ่ม..

ทีนี้เกิดคำถามขึ้นมา แล้วการออกกฎหมายมาแบบนี้จะเดือดร้อนกันมากน้อยแค่ไหน ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บอกว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซปี 2561 มีมูลค่า 3,058,987 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในแบบ B2B ราว 1,806,936 ล้านบาท ที่เหลือเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C ที่เติบโตขึ้นถึง 28.89%
TV-6 ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซในไทยที่มีอยู่ 1-3 แสนราย ตื่นขึ้นมาได้แล้ว จะโพสต์ขายของแบบเดิมไม่ได้แล้ว โปรดเบิ่งตามองให้รอบๆ ด่วน ค้าขายแบบไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่เสียภาษีไม่ได้แล้วนะจ๊ะ...ตัวเอง

แต่ที่ผมกำลังสงสัยคือร่างเดิมนั้นมีการกำหนดว่า 1. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ค้าขายได้รับเงินได้หรือผลกำไรในไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในไทย

2. กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมิได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินได้อันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา 15% และนำส่งกรมสรรพากร

3. กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งขายสินค้าโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้ซื้อที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3 ประเด็นนี้หายไปไหน ขอรับนายท่าน...หรือว่าสู้ยักษ์ใหญ่ของโลกไม่ได้...

| ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3413 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.2561 
595959859