ธปท.แนะลงทุนนวัตกรรมเพิ่มผลิตภาพธุรกิจ ดันจีดีพีโต

29 ต.ค. 2561 | 13:00 น.
 

ผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) หรือ TFP เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจให้เติบโตด้านความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการเพิ่มรายได้ของประชากร ซึ่งก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จะเห็นว่า TFP ภาคอุตสาหกรรมไทยมีผลต่อการเติบโตจีดีพีไทย 1 ใน 3 หรือมากกว่า 30% จากที่จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 8% และหลังวิกฤติเศรษฐกิจ TFP มีผลลดลงเหลือเพียง 0.5% จากจีดีพีที่เติบโตเฉลี่ย 5% สอดคล้องกับการประชุมของคณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2559 ได้แสดงความกังวลต่อปัญหา TFP ตกตํ่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ธปท.

จากความกังวลและปัญหาดังกล่าว “อาชว์ ปวีณวัฒน์”หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เสนองานวิจัยภายใต้หัวข้อ “ไขปริศนาผลิตภาพของไทยด้วยกุญแจข้อมูลจุลภาค” จากการสำรวจโรงงาน 9 แห่งจากข้อมูลที่มีทั้งหมด 4 แสนโรงงานพบว่า แนวโน้ม TFP ในระยะข้างหน้า 3-5 ปี คาดหวังว่า จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ธปท.คาดว่าปีนี้อยู่ที่ 4.4% และปี 2562 ขยายตัวที่ 4.2% อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ต้องติดตามคือ ปัญหาสงครามการค้า (Trade War)ที่จะมีผลต่อการส่งออก และเป็นตัวบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การยกระดับ TFP ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรและยกระดับโรงงาน เป็นวิธีการยกระดับ TFP ให้สูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ไทยยังจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างการแข่งขันที่มีผู้ผลิตมากราย กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน กลุ่มที่สัดส่วนภาครัฐมีส่วนร่วม การพัฒนาและวิจัย (R&D) จะเห็นว่าสัดส่วน R&D ของไทยในปี 2559 มีเพียง 0.6% และเพิ่มเป็น 0.7% ในปี 2554

ขณะเดียวกัน โรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 200 คน สินทรัพย์มากกว่า 200 ล้านบาท จะมีข้อจำกัดและถูกบีบรัดจากกฎระเบียบต่างๆ ที่มีมากกว่าโรงงานขนาดเล็กที่มีคนงานไม่เกิน 50 ราย มีขนาดสินทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เช่น โรงงานที่มีเกิน 50 คน จะต้องมีพยาบาล 1 คน หรือสิทธิ์ทางภาษีต่างๆ หรือสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า ทำให้ประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร(TFPR) ช่วงปี 2549 และปี 2554 บิดเบือน TFPR โดยโรงงานขนาดเล็กมีการลงทุนขยายในสินทรัพย์ถาวรไม่ถึง 25% เมื่อเทียบกับโรงงานขนาดกลางที่มีการลงทุนประมาณ 50% สะท้อนว่า โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องการขยายสู่โรงงานขนาดกลางหรือใหญ่ เพราะจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มากขึ้น ทำให้เกิดการตั้งโรงงานขนาดเล็กมากขึ้นแทนการยกระดับสู่โรงงานขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมีผลให้ TFP ของโรงงานขนาดเล็กตํ่ากว่าโรงงานขนาดกลางและใหญ่

[caption id="attachment_338423" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ดังนั้น การสนับสนุนนโยบายภาครัฐไม่ควรออกนโยบายหรือมาตรการที่จำกัดเฉพาะกลุ่มแค่โรงงานขนาดเล็ก เพราะจะเกิดการบิดเบือนของ TFPR ภาครัฐควรสนับสนุนหรือเสนอนโยบายที่เป็นแบบหน้ากระดานที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติว่า ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร โดยตัดการเอาขนาดมาเป็นเงื่อนไขการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันการช่วยเหลือไม่ควรเป็นไปในลักษณะการอุ้ม แต่ควรช่วยเหลือแบบให้ธุรกิจเติบโตขึ้น

“ทั่วโลกกำลังเผชิญเรื่องผลิตภาพที่ตกตํ่า และไทยเองควรเร่งยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้น โดยต้องทำทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรม และภาครัฐควรช่วยทุกขนาด ไม่ใช่เฉพาะช่วยขนาดเล็กและปล่อยขนาดใหญ่ทำให้คนไม่อยากจะโต และมาตรการต้องเอื้อต่อการขยายตัวด้วย”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,413 วันที่ 28 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859