มองมุมจีน! สงครามการค้าฉุดส่งออก ตัวเร่งแห่ขยายลงทุนไทย

29 ต.ค. 2561 | 11:52 น.
สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่ส่อเค้ายืดเยื้อ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ออกมาคาดการณ์จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จะขยายตัวลดลงเหลือ 6.2% ในปี 2562 หรือ ตํ่าสุดในรอบเกือบ 10 ปี จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ย 6.7-10.6% ต่อปี คาดการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการค้า-การลงทุนไทย-จีนในปีนี้ และในปีหน้าหรือไม่อย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ นายอู๋ จื้อ อี้ นายกสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน-สากล (AITIA) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

อู๋1

เทรดวอร์ทำ ศก.จีน หด
นายอู๋ จื้อ อี้ กล่าวว่า สงครามการค้ากับสหรัฐฯ จะมีผลทำให้เศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของจีนจะชะลอตัวลง เพราะสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของจีน ทั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใดนั้น ในปีหน้าภาพคงจะชัดเจนมากขึ้น (ส่งออกไทยไปจีนช่วง 9 เดือนแรก ปี 2561 ขยายตัว 3.2% แต่เฉพาะเดือน ก.ย. ล่าสุดติดลบ 14%) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีดีพีของจีนจะขยายตัวไม่ตํ่ากว่า 6.5% แต่ในปีหน้า (2562) การขยายตัวในระดับ 6.5% คงจะทำได้ลำบาก เพราะนอกจากผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ปัจจุบัน รัฐบาลจีนยังหันมาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ไม่เน้นการขยายตัวสูง หรือ โตเร็วเหมือนอดีต เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมไปแล้วหลายหมื่นแห่ง ส่วนที่ตั้งใหม่ต้องได้คุณภาพมาตรฐานตามหลักสากล ส่วนหนึ่งมีผลทำให้การส่งออกของจีนลดลง

"เศรษฐกิจจีนในปีหน้าคาดจะขยายตัวลดลง แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนมากนัก เพราะคู่ค้าอันดับ 1-4 ของจีนในปัจจุบัน คือ ยุโรป สหรัฐฯ อาเซียน และญี่ปุ่น (ตามลำดับ) หากตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ จีนก็ยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ รวมถึงตลาดใหม่ ๆ ได้ และยังมีการนำเข้าสินค้าจากไทย ขณะที่ การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักแล้ว (ในปี 2560 ภาคการส่งออกของจีนมีสัดส่วน 18.54% ต่อจีดีพี ลดลงจากปี 2550 ที่มีสัดส่วน 34.90% ต่อจีดีพี) ยังมีอีก 2 วิธี คือ 1.การลงทุนของรัฐบาลจีนในประเทศ และ 2.การกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวลดลง การส่งออกจะชะลอตัวลง แต่การบริโภคและเศรษฐกิจภายในของจีนโตขึ้น"


4 อุตฯ ศักยภาพสูงลงทุนไทย
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากสงครามการค้า ผลจากต้นทุนการผลิตสินค้าในจีนเริ่มสูงขึ้น และผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทยในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนจีนออกมาลงทุนในไทยและในอาเซียนมากขึ้น ทั้งเพื่อใช้เป็นฐานผลิต เป็นตลาด และฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งกลับไปจำหน่ายในจีน และส่งออกไปทั่วโลก

ทั้งนี้ มีอุตสาหกรรม/ธุรกิจ 4 ด้าน ที่จีนมีศักยภาพจะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง 2.อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน จากค่าจ้างแรงงานในไทยยังตํ่ากว่าจีน 3.อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แปรรูปยางพาราและผลไม้สด และแปรรูปเพื่อส่งไปจีน และ 4.ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมมือกับคนไทย ที่กำลังขยายตัว


อู๋2

"ตัวอย่างก่อนหน้านี้ กลุ่มหัวเว่ยมีการลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และศูนย์บริการลูกค้าในไทย ล่าสุด ลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่ เครืออาลีบาบากรุ๊ปก็มีความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาการค้าออนไลน์ และ JD.com ก็มีความร่วมมือและร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลของไทย ซึ่งในอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของจีนและไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในอาเซียนไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่จีนจะมาลงทุน จากเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และนักท่องเที่ยวจีนก็นิยมมาเที่ยวไทยมาก"


ไม่ปลอดภัยเที่ยวไทยลด
สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยลดลงในช่วงนี้ เป็นผลพวงจากห่วงเรื่องความปลอดภัย จากก่อนหน้านี้มีเหตุเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ จ.ภูเก็ต ต่อด้วยเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวจีน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ทำให้กำลังการซื้อของนักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ตาม จากที่รัฐบาลไทยมีแผนจะยกเว้นค่า Visa On Arrival เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ รวมถึงมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว เชื่อว่าจะทำให้เดือนที่เหลือของปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น


090861-1927-9-335x503-8-335x503

"เรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แม้จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจและการส่งออกของจีนชะลอตัวลง แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อการมีงานทำของชาวจีน นักท่องเที่ยวจีนไปสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ลดลง แต่มีฟีดแบ็กจากชาวจีนที่ส่งบุตรหลานไปเรียนที่สหรัฐฯ ว่า ถูกกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น"

นายอู๋ จื้อ อี้ กล่าวอีกว่า จากที่สมาคมจะเป็นแม่งานการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออก (ACIEC 2018) ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ โดยได้นำผู้ประกอบการจาก 10 มณฑลของจีน ประมาณ 200 บริษัท มาจัดแสดง เป้าหมายเพื่อเจรจาธุรกิจและหาคู่ค้าและตัวแทนจำหน่าย เพื่อเปิดตลาดการค้าในไทยและในอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-จีน ที่รัฐบาล 2 ฝ่าย ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ให้ประสบผลสำเร็จ


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,413 วันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว