ชิงลิขสิทธิ์ "มิสยูนิเวิร์ส 2018" จับเสือมือเปล่า จ้องทึ้งงบสปอนเซอร์รัฐ

28 ต.ค. 2561 | 08:22 น.
วุ่นไม่เลิกสำหรับการจัดประกวด "มิสยูนิเวิร์ส 2018" หรือ "นางงามจักรวาล" ที่ก่อนหน้านี้ องค์กร Miss Universe Organization ก็เคยพยายามที่จะจัดการประกวดนางงามจักรวาลครั้งนี้ที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายต้องยกเลิกไป เพราะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด เช่นเดียวกับ 'ฟิลิปปินส์' ก็ถูกทาบทามเช่นกัน แต่ก็ไปต่อไม่ได้ เนื่องจากหาสปอนเซอร์ไม่ได้และประเทศเองมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ


ทีพีเอ็นฯ เสียบลิขสิทธิ์แทน
หวยเลยมาตกที่ประเทศไทย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นบุญหรือกรรมกันแน่ เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ก็จะเริ่มงานนี้แล้ว โดยนางงามจาก 90 ประเทศ จะเริ่มเดินทางมาทำกิจกรรมในประเทศไทยในวันที่ 29-30 พ.ย. นี้ และจะถึงวันประกวดรอบตัดสินที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ธ.ค. (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ธ.ค. (ตามเวลาประเทศสหรัฐอเมริกา)

แต่ดั้นมีชนวนต้องเปลี่ยนเจ้าของลิขสิทธิ์จาก กลุ่มบริษัท "ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป" ของ "ธนวัฒน์ บุญสม" ซึ่งใช้คอนเนกชันที่รู้จักผู้บริหาร "IMG" (บริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่ซื้อการประกวดมิสยูนิเวิร์ส จาก "โดนัลด์ ทรัมป์") ดีลให้มาจัดประกวดในไทย แต่กลับพลาดท่าให้กับกลุ่ม "บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด" ของ "สมชาย ชีวสุทธานนท์" หรือ "ตี๋ แมทชิ่ง" ที่กลายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย โดยมี "พอลล่า เอ็ม ชูการ์ต" ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์ส และ "เดมี ลีห์เนล ปีเตอร์ส" มิสยูนิเวิร์ส 2017 จากประเทศแอฟริกาใต้ บินมาร่วมแถลงข่าวร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์รายใหม่ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา


MP22-3413-A---

เพิ่งตั้งบริษัทมารับงานต่อ
ทั้ง ๆ ที่บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด เพิ่งจะตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่ง "ตี๋ แมทชิ่ง" ได้ดึง "ณรงค์ เลิศกิตศิริ" ผู้บริหารบริษัท เท็กซ์ไทล์แกลเลอรี่ จำกัด ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์ผ้าไทย "PASAYA" และ "ยาภรณ์ แสนโกศิก" กรรมการบริหาร บริษัท ซี สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และอดีตเลขานุการ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. มาร่วมก๋วนเป็นกรรมการ และใช้เวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ เซตอัพทีมใหม่ขึ้นมาดำเนินการ ทั้งออร์แกไนเซอร์ โปรดักชัน และทีมหาสปอนเซอร์

หักหน้ากันเห็น ๆ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทางเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม "ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป" เคยจัดแถลงข่าวถึงการคว้าลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ถึงขนาดล็อบบี้พา มิสยูนิเวิร์ส 2017 และ "พอลล่า เอ็ม ชูการ์ต" ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์ส เข้าทำเนียบรัฐบาลไปพบนายกฯบิ๊กตู่ โหมพีอาร์ไปทั่วโลก ว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 สุดท้ายกินแห้ว เมื่อถูก "ตี๋ แมทชิ่ง" ซึ่งร่วมเป็นคณะทำงานกับ ธนวัฒน์ บุญสม มาตั้งแต่ต้น คว้าพุงปลาไปกินซะงั้น แถมยังได้มีการหารือถึงรูปแบบการจัดการประกวดครั้งนี้กับทางองค์กร Miss Universe Organization ที่บินมาร่วมประชุมแล้วครั้งหนึ่งด้วย


ทีดับบลิวฯ จ่อฟ้องตี๋ แมทชิ่ง
หลังการถูกตัดสิทธิ์ไป นายธนวัฒน์ วันสม ประธานกรรมการ ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป ได้ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรณีการถูกยกเลิกลิขสิทธิ์ ว่า เกิดจากการดำเนินการอันมิชอบของผู้ร่วมลงทุนบางราย ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการดำเนินการหาผู้สนับสนุนรายการจัดประกวดและไม่ส่งมอบเงินจากผู้สนับสนุน เพื่อให้นำไปจ่ายค่ารักษาลิขสิทธิ์ของการเป็นผู้จัดงานตามเงื่อนไขที่องค์กรมิสยูนิเวิร์ส ระบุไว้

อีกทั้งยังไปเจรจาลับหลังเพื่อขอรับสิทธิในการจัดประกวดแทนบริษัท รวมถึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับในทันที พร้อมกับใช้แหล่งเงินทุนและได้อาศัยข้อมูลการเตรียมการของ บริษัท ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ปฯ ไปใช้ในการดำเนินการของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ นอกจากนี้ บริษัทจะดำเนินการทางกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว

งานนี้ไม่แปลกที่อินเวสเตอร์อย่าง "ธนวัฒน์ บุญสม" จะมีจี๊ด เพราะก่อนหน้านี้ "ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป" ก็ลงทุนในโครงการนี้ไปแล้วพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น การวางแบงก์การันตีไปกว่า 100 ล้านบาท การชำระค่าลิขสิทธิ์ ที่งวดแรกจ่ายไปแล้ว 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มามีปัญหาในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์งวดที่ 2 วงเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เดิมตกลงจะให้ "ตี๋ แมทชิ่ง" และพาร์ตเนอร์จ่าย แต่ก็ไม่ได้จ่าย จน "ธนวัฒน์" ต้องควักจ่ายไปบางส่วน จนมาแตกหักเมื่อถึงเวลาจ่ายค่าลิขสิทธิ์งวดสุดท้าย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตกลงจ่ายกันคนละครึ่ง แต่เมื่อไม่ได้จ่าย ก็ไม่ผิดที่จะต้องถูกตัดสิทธิ์ไป และที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าความคืบหน้าในการจัดประกวดจาก "ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป" ก่อนหน้านี้ก็ดูเหมือนงานจะไม่เดินเท่าที่ควร

ส่วน "ตี๋ แมทชิ่ง" เอง แม้ไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ "ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป" ก็จริง แต่ก็เป็นพาร์ตเนอร์ หรือ พันธมิตรที่ 'ธนวัฒน์' ดึงมาช่วยงานในฐานะออร์แกไนเซอร์มาตั้งแต่ต้น และช่วยเรื่องการหาสปอนเซอร์มาก่อน ไม่แปลกที่ 'ธนวัฒน์' จะรู้สึกเหมือนถูกชิงโอกาสไปดื้อ ๆ เพราะไหน ๆ ก็เคยดีลหาสปอนเซอร์ในการประกวดนี้ร่วมกันมาก่อนบ้างแล้ว

ประกอบกับ "ตี๋ แมทชิ่ง" ก็เคยมีประสบการณ์ในการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในปี 2548 อยู่แล้ว ในนามกลุ่มทีดีซี (สุรางค์ เปรมปรีดิ์, ชาลอต โทณวณิก, ตี๋ แมทชิ่ง) ก็ไม่แปลกที่ "ตี๋ แมทชิ่ง" จะใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการตั้งบริษัทขึ้นมารับงานต่อ แต่เปลี่ยนขั้วใหม่ เพราะสายสัมพันธ์ในกลุ่ม "ทีดีซี" เดิม ก็ใช่จะจบกันได้ดี เมื่อจบการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งก่อน


ชงรัฐไฟเขียวงบสนับสนุน
ส่วนการหาสปอนเซอร์งานนี้ บอกเลยว่าไม่ง่าย โดยเฉพาะจากภาคเอกชน ที่เดิมก็ยังไม่ลงตัว พูดได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ จุดหลักก็หวังล็อบบี้ขอสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก พอเปลี่ยนเจ้าของลิขสิทธิ์ใหม่และภายในเวลาเช่นนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า ก็ต้องมีการไปเจรจากับสปอนเซอร์ใหม่ และโมเดลการขอเงินจากรัฐบาลในการสนับสนุนงบประมาณการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้ ก็จะย้อนกลับไปยังเมื่อสมัย 13 ปีก่อน ที่ตอนนั้นรัฐบาลก็ควักเงินกว่า 250 ล้านบาท ในการสนับสนุนการจัดการประกวด

เพราะวันนี้กลายเป็นว่า ถ้าไม่อยากให้ไทย หรือ 'บิ๊กตู่' เสียหน้า ก็ต้องจัดงานนี้ให้ได้ แว่ว ๆ มาว่า มีการล็อบบี้กันแล้วว่าจะเสนอของบหลายร้อยล้านบาท อาจจะถูกนำเสนอ ครม. ในการประชุมอาทิตย์หน้าด้วยซํ้า ด้วยเหตุผลการสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยว ที่จะมีกองประกวด กองเชียร์ กองถ่ายทำ และช่างภาพสื่อมวลชน ราว 6 พันคนติดตามมา และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นใคร ต่างก็จับเสือมือเปล่าอยู่แล้ว ไงก็วิน วิน


รายงาน โดย โต๊ะข่าวท่องเที่ยว

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3413 ระหว่างวันที่ 28 - 31 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62