พาณิชยฺเผยแผนงานการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

26 ก.พ. 2559 | 07:47 น.
แนวโน้ม ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลผลิต โดยส่วนใหญ่ยังคงเหลือข้าวเปลือกเจ้าในเขตพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และ สศก.) คาดการณ์ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 6 จังหวัด ประมาณ 0.413 ล้านตันข้าวเปลือก ได้แก่ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี สงขลา อุทัยธานี และพิจิตร ส่วนข้าวนาปรัง ปี 2559 ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร สุพรรณบุรี ปทุมธานี และขอนแก่น แต่ยังมีปริมาณผลผลิตไม่มากนัก รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกระทรวงมหาดไทย  ร่วมบูรณาการเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ โดยใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งเป้าหมายความต้องการของตลาดกำหนดได้ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

สภาพปัจจุบันในตลาดข้าวประสบปัญหา 6 ด้าน ดังนี้

1) ด้านอุปสงค์/อุปทาน  อุปทานมากกว่าอุปสงค์ ข้อมูลการผลิตและการตลาดไม่สอดคล้องกัน ชนิดข้าวที่ปลูกไม่สอดคล้องกับตลาด และความต้องการบริโภคข้าวต่อหัวต่อปีลดลง โดยอุปทานมากกว่าอุปสงค์ประมาณ 5.8 ล้านตันข้าวเปลือก

2) ด้านความเป็นธรรม ในห่วงโซ่อุปทานราคาข้าวถูกกำหนดจากตลาดโลก ทำให้ราคาในประเทศต้องปรับตัวตามโดยไม่เป็นไปตามต้นทุน ช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันอำนาจต่อรองของชาวนาต่ำลงกว่าเดิมมาก ข้าวต้นฤดูความชื้นสูง/ราคาต่ำ เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพข้าว ชาวนามักถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้น และสถาบันเกษตรกรไม่มีความแข็งแรง ขาดอำนาจในการต่อรอง

3) ด้านมาตรฐาน มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยมีมาตรฐานเดียว ทำให้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันตลาดในต่างประเทศ ขาดการกำหนดมาตรฐานข้าวสีและข้าวชนิดอื่น ๆ สร้างความสับสนในตลาด โรงสีข้าว ยังต้องพัฒนามาตรฐานให้เป็นสากลเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ เช่น GMP/HACCP การสร้างมาตรฐานของโรงสีและผู้ส่งออกให้มีความเป็นธรรม

4) ด้านข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลมีหลากหลายแหล่งมากเกินไปเกิดความสับสน การเข้าถึงแหล่งข้อมูลของแต่ละส่วนในตลาดข้าวมีไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำ การบริหารความเสี่ยงผิดพลาด    ขาดการเชื่อมโยงราคาข้าวในแต่ละห่วงโซ่อุปทานและชาวนายังขาดความเข้าใจในระบบข้อมูลข้าว

5) ด้านการจัดการ การจัดการพันธุ์ข้าวไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอทำให้เกษตรกรต้องเก็บพันธุ์เอง     พันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพ ยังมีปัญหาการบริหารจัดการในช่วงการผลิต(นาแปลงใหญ่, รถเกี่ยวนวดข้าว, เครื่องจักรกลการผลิต, ค่าเช่าที่นา)

6) ด้านนวัตกรรม สินค้าที่ซื้อขายในตลาด 90% เป็นสินค้า commodity ซึ่งการแข่งขันสูง แต่ความสามารถในการแข่งขันต่ำ สินค้าราคาต่ำและไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม งานวิจัยมีปัญหาเรื่องการ commercialize และ industrialize สินค้านวัตกรรมมีมูลค่าสูง มีความหลากหลาย มีคู่แข่งน้อย แต่การผลิตไม่คงที่เนื่องจากวัตถุดิบไม่มากพอ

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 255๘ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวง มหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันในการจัดทำแผนงานระยะสั้นในด้านการผลิตและการตลาดข้าวในช่วง 6, 12, 18 เดือนและทบทวนยุทธศาสตร์สินค้าข้าว แบ่งเป็นช่วงๆ ระยะเวลาช่วงละ 5 ปี เป็นยุทธศาสตร์กระทรวงและหน่วยงานระดับกรมเพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิรูปภาคการเกษตรระยะยาว (20 ปี)เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไทยเป็นผู้นำราคาข้าวในตลาดโลก  เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้ความเห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจร ซึ่งจะมีการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเกษตรกร ร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน ดังนี้

1) การกำหนด อุปสงค์และอุปทาน

- กระทรวงพาณิชย์ กำหนดความต้องการข้าวแยกตามชนิดทั้งภายใน ประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการ โดยกำหนดความต้องการใช้ประมาณ 25.01 ล้านตันข้าวเปลือก และการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 27.17 ล้านตันข้าวเปลือกในอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ร้อยละ 5 - 10

2) การลดต้นทุนการผลิต

- ระยะสั้น (6 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ ลดราคาปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง รวมทั้งกำกับดูแลค่ารถเกี่ยวนวด และกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลราคาค่าเช่าที่นาให้เหมาะสม

- ระยะกลาง (12 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ

- ระยะยาว (18 เดือน) กระทรวงเกษตรฯ พัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อผลิตพันธุ์ข้าว ในแต่ละชนิดที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการบริโภค อุตสาหกรรม และข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาแปรรูปข้าวให้มีความหลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิต

3) ช่วงเก็บเกี่ยว

-  ระยะสั้น (6 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย บริหารจัดการช่วงการเก็บเกี่ยว/หลังเก็บเกี่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร เช่น จัดการรถเกี่ยว การสำรวจความต้องการของเกษตรกร การสำรวจลานตากและเครื่องอบลดความชื้น การจัดหาสถานที่เก็บข้าวและขนส่ง

-  ระยะกลาง (12 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพและมาตรฐานโรงสีข้าว โดยปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐานสากล

4) การตลาดในประเทศ

-  ระยะสั้น (6 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ดำเนินการมาตรการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกตลาด เช่น จัดตลาดนัดข้าวเปลือก การชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต็อกข้าวและสินเชื่อรวบรวมข้าวและชะลอการขายข้าวเปลือก กระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงการจำหน่ายข้าวคุณภาพเฉพาะ เพื่อเพิ่มช่องทางตลาด สร้างความเป็นธรรมในการค้าข้าว โดยส่งเสริมให้มีการซื้อขายอย่างเป็นธรรม/กำกับดูแลการใช้เครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้น การปิดป้ายแสดงราคา

- ระยะกลาง (12 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ จัดทำมาตรฐานข้าวชนิดต่างๆ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และส่งเสริมการซื้อขายข้าวตามมาตรฐานอย่างจริงจัง และส่งเสริมการบริโภคข้าวในประเทศ

5) การตลาดต่างประเทศ

- ระยะสั้น (6 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมโยงและขยายตลาดในต่างประเทศ สร้างการรับรู้ประโยชน์ข้าวไทย และส่งเสริมการบริโภคข้าวในต่างประเทศ

- ระยะกลาง (12 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวและนวัตกรรม

ในเชิงพาณิชย์

- ระยะยาว (18 เดือน) กระทรวงพาณิชย์ สร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าวที่ตอบสนองตลาดบน  เพื่อให้การดำเนินการตามแผนบรรลุเป้าหมาย นบข. ได้เห็นชอบตั้งอนุกรรมการกำกับติดตามแผนงานการผลิตการตลาดข้าวครบวงจรขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมี รองปลัดกระทรวงเกษตร และกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมการค้าภายในเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานภายใต้แผนดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการด้านการผลิตและด้านการตลาด จำนวน 10,080 ล้านบาท ดังนี้

1) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรด้านการผลิต รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ งบประมาณ 3,319.47  ล้านบาท ได้แก่

- มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โดยกรมการข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก เป้าหมาย 20 จังหวัด พื้นที่ 64,000 ไร่ 1,280 ชุมชน เกษตรกร 64,000 ราย วงเงินงบประมาณ 206 ล้านบาท เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ จำนวน 8,000 ตันๆ ละ 25,000 บาท (รวมค่าขนส่ง) เป็นเงิน 200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้สำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 ล้านบาท

- มาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ โดย ธ.ก.ส. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนกลุ่มชาวนาผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ให้สามารถผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และการจัดทำแผนธุรกิจการผลิตสินค้าข้าวของกลุ่ม เป้าหมายกลุ่มชาวนาที่เป็นสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการผลิตข้าวในระบบแปลงใหญ่ จำนวน 426 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อ จำนวน 2,130  ล้านบาท (การสนับสนุนวงเงินให้กลุ่มขึ้นกับแผนธุรกิจแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อกลุ่ม) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ 1 ปี วงเงินงบประมาณ จำนวน 83.07 ล้านบาท (เป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ร้อยละ 3.90 ต่อปี)

-มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่ แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” โดยกรมส่งเสริมการเกษตร  มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง พืชอายุสั้น และพืชอื่นๆ ตามชนิดพืชที่เกษตรกรแจ้งความประสงค์ปรับเปลี่ยนพื้นที่ เป้าหมายพื้นที่ 300,000 ไร่ เกษตรกร 60,000 ราย พื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัด งบประมาณ 648.24 ล้านบาท

- มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายโครงการ ไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ในฤดูนาปรัง 2560 โดยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรได้รู้ถึงประโยชน์ในการใช้ปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และเป็นการพักดินและตัดวงจรการแพร่ระบาดของศัตรูพืช เป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 500,000 ไร่/25,000 ครัวเรือน พื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 2,382.50 ล้านบาท

2) โครงการด้านการตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 6,764.47 ล้านบาท ดังนี้

- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป ประมาณ 2.5 ล้านตัน รวมเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 วงเงินดำเนินการ 406.25 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 375 ล้านบาท ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าบริหารจัดการโครงการ 31.25 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR - 1 (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5 ต่อปี) โดยให้สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย  ร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน

-  โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อเกษตรกรในอัตราร้อยละ 90 ของราคาตลาดในปีที่ผ่านมา เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินกู้เกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ระยะเวลาการชำระคืนให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือน นับถัดจากวันรับเงินกู้ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ธันวาคม 2560 วงเงินดำเนินการ 3,978.22  ล้านบาท แยกเป็น  1) ชดเชยดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในอัตรา FDR + 1 จำนวน 367.46 ล้านบาท  2) ชดเชยต้นทุนเงินที่นำไปจ่ายค่าเช่า และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางผู้กู้ ในอัตรา FDR + 1 จำนวน 66.75 ล้านบาท  3) ชดเชยต้นทุนเงินที่นำไปจ่ายค่าใช้จ่ายในการระบายข้าวเปลือกจากยุ้งฉางผู้กู้  ถึงจุดส่งมอบในอัตรา FDR + 1 จำนวน 6.67 ล้านบาท  4) ค่าบริหารสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 2 ระยะเวลา 6 เดือน จำนวนเงิน 237.34 ล้านบาท  5) ค่าเช่าและค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉาง จำนวนเงิน 3,000 ล้านบาท และ  6) ค่าใช้จ่ายในการส่งมอบข้าวเปลือกจากยุ้งฉางถึงจุดส่งมอบ (คาดว่าจะดำเนินการ 1 ล้านตัน) ในอัตราตันละไม่เกิน 300 บาท จำนวนเงิน 300 ล้านบาท

-  โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร จำนวน 1.2 ล้านราย โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี จากต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 80,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ระยะเวลาการ   กู้เงิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559 ยกเว้นภาคใต้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 วงเงินดำเนินการ 1,440 ล้านบาท

- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ปริมาณ 8 ล้านตัน โดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60 – 180 วัน นับแต่วันที่รับซื้อ ระยะเวลารับสมัครและกลั่นกรองวงเงินสินเชื่อของธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 15 กันยายน 2559 (ภาคใต้ วันที่ 15 ตุลาคม – 15 ธันวาคม 2559) ระยะเวลาการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 จำแนกเป็นฤดูกาลผลิตนาปี วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 31 มีนาคม 2560 (ภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2560) ฤดูกาลผลิตนาปรัง วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2560 (ภาคใต้ วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2560) ระยะเวลาการเก็บสต็อกข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – ๓0 เมษายน 2561 (นาปี วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 31 ตุลาคม 2560 , นาปรัง วันที่ 1 เมษายน 2560 – 30 เมษายน 2561) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 – 31 ตุลาคม 2561 วงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท แยกเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย 937.50 ล้านบาท (ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.5 ล้านตัน x 11,000 x 3% x 6 เดือน และข้าวเจ้า 4.5 ล้านตัน x 8,000 x 3% x 4 เดือน) และค่าใช้จ่ายดำเนินการ 2.50 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ที่มา: สำนักปลัด กระทรวงพาณิชย์