'เวิลด์แบงก์' แนะไทย! รื้อ ก.ม.หลักประกันธุรกิจ

26 ต.ค. 2561 | 05:16 น.
การเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันนับเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะคะแนนความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business ที่จัดอันดับโดยธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 26 ของโลก โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากการปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกทางราชการแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าออกกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้การประกอบธุรกิจของนักลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น และในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ธนาคารโลกจะเปิดเผยรายงานผลการจัดอันดับประเทศที่มีความยากง่ายในการทำธุรกิจ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คาดว่าอันดับของประเทศไทยในปีนี้น่าจะดีขึ้น 1-2 อันดับ เพราะรัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกแนะนำแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันว่า ไทยจะต้องเปลี่ยนกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่บังคับใช้อยู่ คือ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะนำมาเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและศึกษาข้อดี ข้อเสีย หากดูแล้วไม่มีอะไรเสียหายก็อาจแก้ไขได้

ธนาคารโลกแนะนำให้นำสิทธิในการเช่า (Leasehold) เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากกว่ากรรมสิทธิ์ ซึ่งสวนทางกับประเทศไทยที่ชอบในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือ Free-hold ซึ่งต่างชาติมองว่า การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หมายถึง ภาระภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นสิทธิการเช่า เขาจะมั่นใจ เพราะใช้เป็นหลักประกันได้

"สิทธิในการเช่าที่ต่างชาติชอบ คือ สิทธิในการเช่าระยะยาว อย่างเช่น 30 ปี แต่สิทธิในการเช่า 99 ปี เขายิ่งชอบ ต่างชาติจะคุ้นกับการเช่า แต่คนไทย เราคุ้นกับการเป็นเจ้าของ แต่ของไทยจะถามว่า แล้วสุดท้ายทรัพย์สินจะตกเป็นของใคร หลังหมดสัญญาเช่า แต่ต่างชาติไม่ได้สนใจตรงนั้น"

สำหรับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันที่ระบุใน พ.ร.บ. ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง 3.สังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า 4.อสังหาริมทรัพย์ ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง 5.ทรัพย์สินทางปัญญา 6.ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ส่วนทรัพย์สินที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน ได้คือ 1.ทรัพย์ที่มีกฎหมายกำหนดไม่ให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี 2.ทรัพย์สินส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 3.ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค หรือ ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25 - 27 ต.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เวิลด์แบงก์ชี้! เศรษฐกิจโลกจะผันผวนมากขึ้น
"จีดีพี" ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจจริง! "เวิลด์แบงก์" ชี้พัฒนาคนสะท้อนความมั่งคั่ง


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62