ศก.ไทยเดือนม.ค.รับแรงหนุนภาคท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวดี

26 ก.พ. 2559 | 07:44 น.
 

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2559 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง และการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2559  ว่า  เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2559 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง และการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2559 มีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเล็กน้อย   ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 64.4 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการกระตุ้นยอดขายในช่วงปีใหม่ของผู้ประกอบการ กอปรกับเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า ขณะที่เดือนมกราคม 2559 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2559 มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะ                 การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งโอนไปแล้วในช่วงเวลาก่อนหน้าก่อนที่ราคาประเมินที่ดินใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559  ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาหดตัวในรอบ 2 เดือน ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.2 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมกราคม 2559 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 259.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 241.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำขยายตัวร้อยละ 22.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุนขยายตัว 19.6 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 156.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ทั้งนี้ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -109.7 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังด้านรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ   ไทย

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2559  หดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่า               การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกกลุ่มสินค้าส่งออก โดยเฉพาะน้ำมันและเชื้อเพลง และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัวเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ อาเซียน-5 ญี่ปุ่น และสหรัฐ เป็นสำคัญ แต่ตลาดส่งออกไปกลุ่มประเทศ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และ CLMV ยังขยายตัวเป็นบวก

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.0 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่รัสเซียยังคงหดตัว นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี จากข้าวเปลือกที่มีปริมาณผลผลิตออกมามากจากการเลื่อนการทำนาช่วงกลางปี 2558 และผลผลิตในกลุ่มไม้ผลที่ขยายตัวได้ดีในเกือบทุกหมวด รวมถึงดัชนีในหมวดปศุสัตว์ และประมง ที่ยังขยายตัวได้ดี  ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับลดลงในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 86.3 เนื่องจากความกังวลต่อ                การชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศจากการเร่งใช้จ่ายในเดือนก่อนหน้า ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศในเดือนมกราคม 2559 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.46 แสนคน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงหดตัวที่ร้อยละ  -0.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.4 ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 160.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่า