"มนุษย์เงินเดือน" เฮ! PMAT ชี้! นายจ้างมีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือน 5.6-5.8%

26 ต.ค. 2561 | 07:22 น.
PMAT เผยผลสำรวจแนวโน้มการปรับค่าตอบแทนปีหน้า ปรับขึ้นเฉลี่ย 5.6-5.8% แล้วแต่ประเภทธุรกิจ เผย กลุ่มธุรกิจทรัพยากรและพาณิชยกรรมและบริการมีแนวโน้มในการขึ้นเงินเดือนมากที่สุด 6% ส่วนโบนัสหากผลประกอบการขององค์กรดีขึ้น แนวโน้มการตอบแทนเงินโบนัสระยะสั้นจะเพิ่มมากขึ้น

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศ (PMAT) เผยผลสำรวจแนวโน้มการปรับค่าตอบแทนและผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย ปี 2561/2562 ผลการสำรวจได้จากการเก็บข้อมูลในกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย ประกอบด้วย เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การเงินและการลงทุน สินค้าอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ผลสำรวจที่น่าสนใจ พบว่า ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พิจารณาจาก GDP Growth Rate ในปี 2561 ต่อเนื่องไปถึงการคาดการณ์ในปี 2562  มีอัตราสูงขึ้น อีกทั้งอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) มีความคงที่ ส่งผลให้แนวโน้มการแข่งขันในการว่าจ้างพนักงานสูงขึ้นและอัตราค่าจ้างจะสูงขึ้นเร็วกว่าที่ผ่านมา ปัจจัยนี้ยังส่งผลให้แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจด้วย โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 5.5-5.8 % โดยพบว่า กลุ่มธุรกิจทรัพยากรและพาณิชยกรรมและบริการมีแนวโน้มในการขึ้นเงินเดือนมากที่สุด โดยมีแนวโน้มในการขึ้นเงินเดือนในปี 2562 อยู่ที่ 6% และ 5.5% ตามลำดับ และยังพบว่า หากผลประกอบการขององค์กรต่าง ๆ ดีขึ้น แนวโน้มที่ผู้บริหารจะตอบแทนในรูปแบบเงินโบนัสระยะสั้นจะเพิ่มมากขึ้น


สรุปแนวโน้มค่าจ้าง
แนวโน้มการแข่งขันในการจ่ายค่าจ้างจะสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารและคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ พัฒนา และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดี

แนวโน้มนโยบายรัฐและผู้ประกอบการยังคงร่วมมือกันกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยการว่าจ้างชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาชดเชยสภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานมากขึ้น


อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่
ผลสำรวจ พบว่า อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ ระดับ ม.3, ม.6, ปวช., ปวส. จนถึงปริญญาตรีและโท จะมีอัตราที่เปลี่ยนแปลงช้าและมีความแตกต่างกันน้อยลง ยกเว้น องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการจ่ายสูงและในบางธุรกิจที่มีการแข่งขันว่าจ้างแรงงานสูง

อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ระดับ ปวช. และ ปวส. เปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ทั้ง ปวช. พานิชย์ และเทคนิค มีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.34%/ปี และเฉลี่ย 1.32%/ปี ตามลำดับ ส่วน ปวส. พานิชย์ และเทคนิค มีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50%/ปี และเฉลี่ย 1.43%/ปี ตามลำดับ

อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในสาขาวิศวกรมศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ยังคงมีอัตราเงินเดือนสูงที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเฉลี่ย 1.47%/ปี สำหรับระดับปริญญาตรี ในขณะที่ ระดับปริญญาโทกลับมีไม่มีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ทั้งยังพบว่า อัตราเงินเดือนในปี 2560 ต่ำกว่าปี 2559

อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์สำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาคอมพิวเตอร์ มีอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ย 1.83%/ปี แต่ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และพบว่า สาขาบริหารและสังคมกลับมีอัตราเงินเดือนลดลงเฉลี่ย -1.39%/ปี เท่ากัน

ความแตกต่างของอัตราค่าจ้างของพนักงานที่ใช้แรงงานกับพนักงานที่สำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ มีแนวโน้มที่ห่างกันน้อยลง แต่กลับแตกต่างจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น จะมีผลให้ชนชั้นกลางและพนักงานที่ใช้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น

กระจายรายได้ให้เป็นธรรม พัฒนาบุคลากร คือ สิ่งที่รัฐและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ

คณะทำงานสำรวจอัตราค่าจ้างของ PMAT ได้นำเสนอข้อชี้แนะว่า นโยบายรัฐควรมุ่งเน้นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาผลิตภาพ ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ และพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรให้มีคุณภาพ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี มิใช่การกำหนดอัตราค่าจ้างให้ต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบแรงงานได้อย่างถูกกฎหมาย

ในขณะที่ องค์กรต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐานระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง รวมถึงระบบบริหารค่าตอบแทนที่มีหลักเกณฑ์ เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การสำรวจค่าจ้างค่าตอบแทนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้องค์กรมีข้อมูลตลาด และช่วยให้การบริหารค่าตอบแทนเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ แต่ต้องใช้ให้เป็นและเชื่อมโยงกับระบบบริหารองค์การและทรัพยากรบุคคลอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิผลด้วย


e-book-1-503x62-7