Business Backstage | ดราม่าของธุรกิจครอบครัว

28 ต.ค. 2561 | 06:19 น.
ด้วยลักษณะของธุรกิจครอบครัวที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป อาจทำให้การทำงานในธุรกิจครอบครัวมีความยากลำบากจากสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนหลายอย่าง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับทั้งครอบครัวและธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไปความทับซ้อนกันในเรื่องครอบครัวและธุรกิจมักเป็นเหตุผลสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถอยู่รอดได้ โดย Elizabeth Layne1 ได้สรุปประเด็นที่สร้างความยากลำบากในการทำงานในธุรกิจครอบครัวเอาไว้ ดังนี้

1.ปัญหาตลอดกาล เรื่องดราม่าของธุรกิจครอบครัวมักเกิดขึ้นจากปัญหาระหว่างสมาชิกในครอบครัว ตัวอย่างเช่น การแข่งขันระหว่างพี่น้อง อาจทำให้แสดงความไม่ดีออกมา บางทีพี่น้องรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับการยอมรับในช่วงวัยเด็กและพยายามเอาชนะ ดังนั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงอยากได้รับการยอมรับจากพ่อ ซึ่งเป็นเจ้านาย อาจมีการทำลายงานที่ทำร่วมกับพี่น้อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม Sharon M. Danes ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ครอบครัว แห่ง University of Minnesota กล่าวว่า ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ จงเรียนรู้วิธีจัดการความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน จากนั้นทำการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถรับฟังและรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ทำความเข้าใจและนำมาพิจารณา ทั้งนี้ การสื่อสารที่ชัดเจนสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันและอาจลดการแข่งขันระหว่างพี่น้องได้ นอกจากนี้ ครอบครัวยังอาจใช้ที่ปรึกษาที่ผ่านการอบรมเรื่องปัญหาครอบครัวมาแล้วเข้ามาช่วยจัดการความขัดแย้งได้

2.ข้อตกลง ข้อผิดพลาดที่พบมากที่สุดและราคาแพงที่สุดของเจ้าของธุรกิจครอบครัว คือ หลีกเลี่ยงการเขียนข้อตกลงธุรกิจกับสมาชิกในครอบครัว รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของพวกเขาในธุรกิจด้วย ซึ่ง Michael J. Conway และ Stephen J. Baumgartner ระบุไว้ในบทความชื่อ Graziadio Business Review : The Family-Owned Business ว่า การที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวหลีกเลี่ยงการเขียนข้อตกลงธุรกิจ เนื่องจากความกลัวว่าจะทำให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีความน่าเชื่อถือ และชี้ว่าธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่มี เช่น การวางแผนสืบทอดกิจการ และการจัดการกับการแต่งงานและการหย่าร้างในครอบครัว รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ ที่พบได้ในธุรกิจทั่วไป ทั้งนี้ หากไม่มีข้อตกลงทางธุรกิจที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น อดีตคู่สมรสของสมาชิกในครอบครัวควรมีบทบาทในบริษัทเพียงใดหลังการหย่าร้างแล้ว


family-business-

3.ค่าตอบแทน
ประเด็นเรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในธุรกิจส่วนใหญ่ และเป็นเรื่องอ่อนไหวเสมอสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สมาชิกในครอบครัวมักได้รับค่าจ้างน้อยหรือมากเกินไป ซึ่งทั้ง 2 สถานการณ์ ต่างสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว โดย The Harvard Business School แนะนำให้จ่ายค่าตอบแทนพนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวตามผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ และเพื่อสนับสนุนความจงรักภักดีและสร้างความสามัคคี โดยระดับค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมและมาตรฐานในท้องถิ่นนั้น ๆ

4.การถ่ายโอนอำนาจ บ่อยครั้งที่คนรุ่นอาวุโสไม่เต็มใจที่จะส่งต่ออำนาจการบริหารให้กับคนรุ่นต่อไปเมื่อถึง
เวลาอันควร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพวกเขาสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และอาจไม่แน่ใจในเป้าหมายต่อไปในชีวิต โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานการณ์จะคาราคาซังอยู่อย่างนั้น หากคนรุ่นเด็กกว่าไม่กล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับคนรุ่นอาวุโส หรือ คนรุ่นเด็กกว่าไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนเพียงพอที่จะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ และโดยเฉพาะหากธุรกิจไม่มีที่ปรึกษาจากภายนอกมาช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การวางแผนการสืบทอดกิจการอย่างละเอียด พร้อมด้วยกำหนดการและวันที่ในการถ่ายโอนอำนาจการบริหารและความเป็นเจ้าของ จะช่วยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ในข้างต้นได้ เช่นเดียวกับการช่วยคนรุ่นอาวุโสในการหาและทำสิ่งสำคัญที่มีความหมาย เช่น การเขียนประวัติของบริษัท หรือ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานในธุรกิจครอบครัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ได้ทำงานร่วมกับคนที่ไว้ใจและใส่ใจกัน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและยังสามารถทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ข้อเสีย คือ การทำงานกับสมาชิกในครอบครัวบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เนื่องจากการรู้จักกันและกันเป็นอย่างดีจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะรู้ว่าแต่ละคนต้องการอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ซึ่งความสัมพันธ์ทางอารมณ์เหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในที่ทำงานได้ หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวให้เก็บอารมณ์ความขัดแย้งออกจากออฟฟิศไปด้วย และจงปฏิบัติต่อพนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและคนนอกอย่างเท่าเทียมกัน และให้ผลตอบแทนตามประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายของบริษัทเดียวกันได้ต่อไป


คอลัมน์ | หน้า 35 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,413 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว