ชงรัฐเคลียร์สต๊อกยางแสนตัน! ผลิต "หมวกต้นยาง" แจกฟรีเกษตรกรทั่วไทย-เพิ่มรายได้หน้าฝน

28 ต.ค. 2561 | 08:09 น.
กยท. เตรียมชง "ประยุทธ์" เคลียร์ล้างสต๊อกยาง 1 แสนตัน นำไปผลิตหมวกกันฝนต้นยางแจกฟรีชาวสวนทั่วประเทศ แต่ต้องทำสัญญาส่งคืนภายใน 5 ปี ขณะลุ้นค่าย "มิชลิน" จีบส่งนํ้ายางสดวันละ 300 ตัน/วัน เร่งทำไอเอสโอโรงงานสงขลา-นครศรีฯ ผลิตป้อน นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย

นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. มีโครงการจะผลิตหมวกให้ต้นยางพารา เพื่อให้ชาวสวนยางสามารถกรีดยางในช่วงฤดูฝนได้และช่วยเพิ่มรายได้ โดยจะแจกฟรีให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ แต่จะต้องทำสัญญาเช่าและส่งคืนภายใน 5 ปี แต่หากทำหายก็ต้องชดใช้คืน ทั้งนี้ ในการผลิตหมวกคลุมฝนให้ต้นยางจะใช้ยางพาราในสต๊อกรัฐบาล 1 แสนตัน มาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป โดยหมวกที่ผลิตสามารถเลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้ ลงทุนไม่มาก


หมวก

สำหรับช่วงนำร่องอาจจะใช้ยางในสต๊อกประมาณ 1 หมื่นตัน ก่อนมาดำเนินการ โดยจะทำเรื่องเสนอรัฐบาลเพื่อขออนุมัติและเพื่อของบในการดำเนินการต่อไป เนื่องจากยางในสต๊อก กยท. ทำหน้าที่ดูแลเท่านั้น หากรัฐบาลไฟเขียวให้ดำเนินการจะเร่งผลิตทันที เรื่องนี้ได้นำเสนอโครงการไปยังชาวสวนยางทั้งประเทศแล้ว ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม อีกด้านหนึ่งจะช่วยเคลียร์ยางในสต๊อก หากสามารถเคลียร์หรือระบายออกได้ทั้งหมดจะมีผลด้านจิตวิทยา ทำให้ราคายางในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ไม่ตกตํ่าเหมือนในปัจจุบัน เปรียบเทียบเหมือนกรณีจำนำข้าว ที่เวลานี้รัฐบาลสามารถระบายข้าวในสต๊อกออกมาได้ทั้งหมดแล้ว ทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

"หลังจาก 5 ปี หากชาวสวนยางนำหมวกยางเสื่อมสภาพกลับมาคืน จะนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ยอมรับว่ามีเกษตรกรบางคนค้าน เพราะหากกรีดยางช่วงหน้าฝนได้เพิ่มขึ้น เกรงจะเป็นการเพิ่มผลผลิตในประเทศ แต่ กยท. มองข้าม อยากให้มีรายได้เพิ่ม อีกด้านก็เพื่อเคลียร์สต๊อกยาง เรียกว่า ทำลายแบบให้มีประโยชน์มากที่สุด เพิ่มผลผลิต และไม่กระทบราคายางด้วย"


ยาง

นายจิตติน กล่าวว่า ขณะนี้ กยท. กำลังมีความก้าวหน้าที่จะขายยางให้ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด วันละ 300 ตัน ประมาณต้นเดือน พ.ย. นี้ บริษัทจะขอเข้ามาตรวจโรงงานและเยี่ยมชมตลาดกลางยางพาราที่สงขลา และศูนย์รวบรวมนํ้ายางสด หากบริษัทพอใจ ทาง กยท. จะปรับปรุงมาตรฐานโรงงานแปรรูปใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของมิชลิน ซึ่งใน 2 โรงงานนํ้ายางข้น ที่จะทำมาตรฐาน ได้แก่ โรงงานนํ้ายางข้นที่สงขลาและนครศรีธรรมราช (ซึ่งเป็นเป้าหมายของ บจก.เซี่ยงไฮ้ไทยรับเบอร์โปรดักส์ จะมาขอเช่าทำสัญญา 30 ปี)

"มิชลินบอกว่า ผลิตยางรถ 24 ชั่วโมง เครื่องจักรไม่หยุดเลย แต่บางช่วงไม่มีนํ้ายางป้อนโรงงาน จึงเป็นโอกาสของ กยท. ที่จะเข้าไปเปิดตลาด" อย่างไรก็ดี ในส่วนของการขาดดุลบัญชีของ กยท. ในงบปี 2561 จำนวน 600 ล้านบาทนั้น เป็นการขาดดุลเฉพาะมาตรา 49 (1) ค่าใช้จ่ายบริหารเท่านั้น ส่วนวงเล็บอื่นตั้งแต่ 2-6 เงินยังคงเหลือ ดังนั้น ได้มีการปรึกษากับกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้วว่า การจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี ในทุกโครงการให้จัดเต็มทั้งปีตามโครงการจริง เงินที่เหลือให้จัดสรรเป็นกองกลางแล้ว หากหมวดใดมีปัญหาก็ให้นำเงินกองกลางสามารถมาถัวเฉลี่ยจ่ายได้


TP8-3413-A

"ตัวอย่าง พนักงานดูแลเรื่องส่งเสริม สนับสนุน ชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน ก็โอนค่าใช้จ่ายไปอยู่ในมาตรา 49(2) 
ส่วนงานสนับสนุน เช่น พนักงานบัญชี ฝ่ายกฎหมาย ก็อยู่ (1) ค่าใช้จ่ายในการบริการกิจการของ กยท. เป็นต้น เมื่อมาจัดในลักษณะแบบนี้จะทำให้การจัดสรรเงินในแต่ละวงเล็บ กยท. ไม่ขาดดุลทางบัญชี ปัจจุบันเหลือพนักงาน 2,250 คน จากเดิมกว่า 4,000 คน กำลังจะปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความสมดุลมากขึ้น"


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 38 ฉบับ 3,413 วันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว