'สามารถฯ' ทุ่ม 200 ล้าน! เปิดตัว 'ซีเคียวอินโฟ'

29 ต.ค. 2561 | 07:33 น.
สามารถฯ ทุ่มงบ 200 ล้าน ผนึกไอบีเอ็ม ก่อตั้ง "ซีเคียวอินโฟ" ชูเทคโนโลยีเอไอด้าน "ไซเบอร์ ซิเคียวริตี" รายแรกในไทย ตั้งเป้าปี 62 รายได้โต 100 ล้าน หวังขึ้นแท่นท็อป 3 ใน 5 ปี

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค "ดิจิตอล ทรานส์ฟอร์ม" ประชากรไทยมีการใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น ทำให้หลายบริษัทเสี่ยงต่อปัญหาในเรื่องของการถูกแฮ็ก หรือ โจรกรรมข้อมูล ส่งผลให้การลงทุนเพื่อการป้องกันด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีขององค์กรต่าง ๆ นั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากเม็ดเงินลงทุนทั่วโลกที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

 

[caption id="attachment_337974" align="aligncenter" width="373"] วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์[/caption]

ขณะที่ ในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7 พันล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 12% สามารถฯ จึงมองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ โดยผนึกพันธมิตรอย่างไอบีเอ็ม (IBM Security) ทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาท ก่อตั้ง บริษัท ซีเคียวอินโฟ (SECUEiNFO) เพื่อให้บริการด้านระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ (Cyber Security) ในรูปแบบของศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center (CSOC) ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามาช่วยตรวจจับและวิเคราะห์การโจมตีได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำเป็นรายแรกในประเทศไทย

ทั้งนี้ ยังพบว่าในหลายองค์กร CIO (Chief Information Officer) จะมีการตรวจพบว่า ข้อมูลรั่วไหลใช้เวลานานถึง 195 วัน และใช้เวลาในการควบคุมสถานการณ์นานกว่า 2 เดือน ซึ่งไอบีเอ็มมองถึงความสำคัญในการป้องกันข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ไม่ใช่เพียงแค่การตรวจสอบและควบคุมเมื่อมีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้น โดย CSOC ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง Watson for Cyber Security ซึ่งเป็นเอไอของ IBM มาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของภัยคุกคาม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.People บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 2.Process ขั้นตอนการทำงานที่ได้มาตรฐาน และ 3.Technology เทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี ซึ่ง Watson สามารถตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาท

อย่างไรก็ตาม สามารถฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตในปี 2562 ไว้ที่ 50-100 ล้านบาท โดยเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง ธนาคารและองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้ สำหรับเป้ารายได้ของกลุ่มสามารถนั้น ในปีนี้คาดว่าจะโตถึง 2 หมื่นล้านบาท โดยเร่งผลักดันให้มีรายได้ประจำเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด ในปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ 40% เพื่อก้าวสู่การเป็นท็อป 3 ภายใน 5 ปี


หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,413 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว