เตรียมความพร้อม Startup ไทย สู่ Startup ระดับโลก (จบ)

28 ต.ค. 2561 | 05:09 น.
ติดตามอย่างต่อเนื่อง จากบทความ “เตรียมความพร้อม Startup ไทยสู่ Startup ระดับโลก (1)”

ซึ่งกล่าวถึง Startup ไทยจากภาคเกษตรกรรมที่ได้เข้าร่วม โครงการ “เสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม” โดยกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้พาตัวแทน Startup ไทยจาก 4 บริษัท เข้าร่วมงาน Oslo Innovation Week 2018 ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 24 -28 กันยายน 2561 และในบทความตอนจบนี้ บริษัท Socialgiver และ บริษัท EdWings Education ซึ่งเป็น Startup ทางด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาของไทย จะมาบอกเล่าประสบการณ์และมุมมองที่ได้รับจากการเข้าร่วมงานดังกล่าวให้ Startup ไทยทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

Socialgiver

"Through Socialgiver, brands and customers  can give back together."

Socialgiver เป็นกิจการเพื่อสังคมทางด้านการท่องเที่ยวโดยเป็น Platform ที่นำสินค้าและบริการที่คงเหลือ (Spare Service Capacity) ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริการนวดสปา ทัวร์ และบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น มาจำหน่ายในราคาพิเศษเพื่อเปลี่ยนรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา การสงเคราะห์ชีวิตสัตว์ และการลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจในสังคม

[caption id="attachment_338893" align="aligncenter" width="335"] กาญจน์ชิตา กิจจันเศียร กาญจน์ชิตา กิจจันเศียร[/caption]

คุณกาญจน์ชิตา กิจจันเศียร ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภาคธุรกิจและหุ้นส่วน บริษัท โซเชียล โมชั่น จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงพลวัตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีในวันนี้อาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงทำให้ได้เรียนรู้ว่า Startup ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลก ซึ่งการที่ Startup บริษัทหนึ่งสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีในประเทศของตนเองก็ไม่อาจรับประกันได้เลยว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป

แม้ว่าเศรษฐกิจของนอร์เวย์จะไม่ได้พึ่งพารายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยวมากเท่าประเทศไทย แต่สิ่งที่สะท้อนการทำงานในภาพรวมของนอร์เวย์ที่เด่นชัด คือ การทำงานของ Startup ในนอร์เวย์ที่เน้นการสร้างพื้นที่และกรอบการทำงานใหญ่ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อให้การทำงานของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสำหรับประเทศไทย ปัญหาด้านความหิวโหย โอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงปัจจัย 4 ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งใน SDGs เช่นกัน และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก จึงเป็นเหตุผลที่เราเห็น Startup ในไทยมุ่งทำงานในเชิงดังกล่าวมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ Startup ไทยพัฒนาก้าวขึ้นไปในอีกระดับ คือการพัฒนาสินค้าหรือบริการของตนเองให้มีจุดเด่นที่แก้ไขปัญหา ทางสังคมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้ Startup นั้นเติบโตไปพร้อมสังคมได้ในระยะยาว

EdWings Education

"We make millions  of students live better."

EdWings Education เป็นกิจการเพื่อสังคมทางด้านการศึกษาที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ทุกรูปแบบจากนอกห้องเรียนเข้าไปสู่ “ครู” และ “นักเรียน” ในโรงเรียน ซึ่งมุ่งผลให้เกิดการขยายโอกาสไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้สร้างโครงการพัฒนาใหม่ๆ ที่จะช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาได้เข้าใจปัญหาทางการศึกษาในหลากหลายรูปแบบและบริบทเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

คุณณัฐรดา เลขะธนชลท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม เอ็ดวิงส์เอ็ดยูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมงานครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ถึงระบบนิเวศของ Startup ด้านการศึกษาที่พัฒนาไปได้ไกลมาก โดย Co-working space ในนอร์เวย์สามารถสร้างระบบที่ประสานงานกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับนักเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งในอนาคต Startup ไทยสามารถพัฒนาไปถึงในจุดนั้นได้เช่นกัน หากแต่ต้องรวมตัวกันมากขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การขาดกำลังคนหรือ กำลังการผลิตชิ้นงานในกิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ซึ่งแต่ละ Startup ต่างมีความเชี่ยวชาญและเป้าหมายในระดับต่างกัน ดังนั้นการรวมตัวกันจะทำให้ Startup โดยรวมเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_338894" align="aligncenter" width="503"] ณัฐรดา เลขะธนชลท์ ณัฐรดา เลขะธนชลท์[/caption]

นอกจากนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกประการหนึ่งจาก Startup ในกรุงออสโล คือ การหารายได้เพื่อทำให้ Startup สามารถอยู่รอดได้เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าโมเดลทางธุรกิจนั้นๆ สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเป็นอย่างมาก แต่ไม่สามารถบริหารงานให้สภาวะทางการเงินของบริษัทสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเองก็ไม่นับว่าสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกใดๆ ได้ ดังนั้นสิ่งที่ Startup ไทยสามารถพัฒนาได้ในทันที คือ การสร้างโมเดลทางธุรกิจให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะอยู่ได้ในระยะยาว จากนั้นจึงเริ่มสร้างเป้าหมายให้กว้างมากขึ้นจนนำไปสู่เป้าหมายตาม SDGs ที่ทำร่วมกับ Startup ทั้งโลก

งาน Oslo Innovation Week เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเป็นที่พบปะของนักวิจัย นักลงทุน และนักธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Tech Startup จากทั่วโลก ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย

ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม Startup ไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผ่านการเรียนรู้และหาความร่วมมือในระดับโลก เพื่อในอนาคต Startup ไทยจะเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาในทุกแง่มุม

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

คอลัมน์ | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,413 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว