ผ่าปมร้อนอิตาลีหลัง‘อียู’ตีกลับร่างงบฯ

28 ต.ค. 2561 | 04:38 น.
แล้วก็เป็นไปตามคาดที่ว่าร่างงบประมาณปี 2562 ของอิตาลีที่ตั้งสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 2.4% ของจีดีพี ไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ ยุโรป (อีซี) โดยอีซีได้ขอให้รัฐบาลอิตาลีกลับไปพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งหากสุดท้ายแล้วอิตาลียังยืนกรานร่างฯดังกล่าว  อีซีอาจจำเป็นต้องงัดมาตรการเชิงควบคุมและลงโทษมาจัดการกับอิตาลี

นายวาลดิส ดอมโบรฟสกี รองประธานฝ่ายกิจการด้านสังคมและเงินยูโร ของคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า อีซีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปฏิเสธร่างงบประมาณฉบับปี 2562 ของอิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลีมีเวลาอีก 3 สัปดาห์ในการยื่นเสนอร่างที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าหากดำเนินการด้านงบประมาณตามร่างใหม่ดังกล่าว อิตาลีจะฉีกกฎเกณฑ์ที่สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องปฏิบัติ และที่สำคัญคือ อิตาลีจะสร้างหนี้ใหม่เพิ่มทับถมหนี้เก่าที่มีมากอยู่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมานั้น (2560) อิตาลีต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้เท่าๆ กับงบประมาณที่ใช้จ่ายด้านการศึกษาเลยทีเดียว “การฉีกกฎเกณฑ์อาจให้ความรู้สึกที่ดีว่าได้รับอิสรภาพ แต่มันเป็นแค่ภาพลวงตา เรามักถูกหลอกล่อให้สร้างหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า แต่ถึงจุดหนึ่งแล้วภาระหนี้มันก็จะหนักเกินแบกไหว” ดอมโบรฟสกี กล่าวและว่า ปัญหาหนี้เป็นความเสี่ยงที่สำคัญของอิตาลี แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่ของอิตาลีมีความตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของอียู

valdis-dombrovskis

นับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติควํ่าร่างงบประมาณของประเทศสมาชิก ความคาดหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้และมติสกัดร่างงบประมาณที่เกิดขึ้นจริงตามคาด ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของอิตาลีพุ่งทะยานขึ้นแตะระดับ 3.77% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปี ผลตอบแทนพุ่งขึ้นไปที่ 4.22% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มิลานดิ่งลงรับข่าว 0.8% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 ต.ค.)

ปัจจุบัน อิตาลีเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากเป็นอันดับ 2 ในบรรดาประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยในปี 2561 ยอดหนี้ของอิตาลีอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสัดส่วนหนี้เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีก็สูงถึง 131.2% ของจีดีพีแล้วในขณะนี้ 

ร่างงบประมาณใหม่ไม่เอื้อต่อแผนลดหนี้ของอิตาลีอย่างต่อเนื่องอย่างที่คณะกรรมาธิการยุโรปต้องการจะเห็น เนื่องจากมีกฎกติกาอยู่ว่า ประเทศสมาชิกของอียูไม่ควรมียอดขาดดุลงบประมาณรายปีเกิน 3% ของจีดีพี  ภาระหนี้สินที่อิตาลีมีอยู่ ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรป จำเป็นต้องเร่งให้รัฐบาลอิตาลีสร้างสมดุลทางการคลัง แต่นั่นก็ขัดกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคการ เมืองแนวประชานิยมและพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการหว่านงบที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

นายลุยกี ดิ ไมโอ รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี จากพรรคไฟฟ์ สตาร์ มูฟเมนท์ นิยมซ้าย ให้สัมภาษณ์สื่อหลังร่างงบประมาณถูกตีกลับโดยอีซีว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับมติที่ออกมาแบบนี้ แต่อิตาลีเองไม่สามารถบริหารประเทศโดยการเดินตามรอยนโยบายเก่าๆ (รัฐบาลชุดเก่าตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณปีหน้าไว้ที่ 0.8% ของจีดีพีเท่านั้น) ซึ่งมัดมือมัดเท้ารัฐบาลในเรื่องการใช้จ่าย

การเผชิญหน้าระหว่างอีซีและรัฐบาลอิตาลีไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลีเอง โดยเรื่องนี้ทำให้นักลงทุนพากันเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอิตาลี และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างมูดี้ส์ และเอสแอนด์พี ก็กำลังจะเปิดเผยผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของอิตาลีภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นการปรับลดลง และหากเป็นเช่นนั้น ภาพลักษณ์ทางการเงินของอิตาลีก็จะดิ่งวูบลงพร้อมกับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่อิงกับสถานะการจัดอันดับเหล่านี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลอิตาลีไม่เป็นผลดีต่อ
อียูโดยภาพรวม และมองว่าฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรปควรเปิดช่องทางออกให้อิตาลีสามารถขาดดุลการคลังเพิ่มเติมได้ในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ปัญหาภายในของอิตาลีต้องไปถึงจุดวิกฤติ แต่โดยกระบวนการแล้ว หากรัฐบาลอิตาลียังยืนกรานร่างงบประมาณที่ยื่นไว้ คณะกรรมาธิการยุโรปก็อาจจะเสนอใช้มาตรการอีดีพี หรือ Excessive Deficit Procedure มาใช้กับอิตาลี ซึ่งหมายถึงรัฐบาลอิตาลีจะต้องทำแผนเสนอนโยบายและมาตรการแก้ไขสถานการณ์การขาดดุลงบประมาณและแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน และมีกรอบเป้าหมายที่ชัดเจน และหากไม่ปฏิบัติตามนั้นก็จะถูกปรับซึ่งถือเป็นบทลงโทษ การเพิ่มแรงกดดันเช่นนั้นอาจทำให้ประเด็นการถอนตัวออกจากอียูของอิตาลี หรือ อิตาเล็กซิท (Italexit) ถูกกระพือขึ้นมาอีกครั้ง

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,413 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว