กสอ. จับมือ 'นางาโนะ' เชื่อม 3 อุตฯ "ไทย-ญี่ปุ่น"

25 ต.ค. 2561 | 07:47 น.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือ SMRJ และรัฐบาลท้องถิ่น จ.นางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจและการส่งเสริมความเชื่อมโยงในสาขาอุตสาหกรรม

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ "SMRJ" (Organization for SME and Regional Innovation of Japan) ในการเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม T-GoodTech ของไทย กับ J-GoodTech ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่องทางการจับคู่ธุรกิจ (Business to Business) ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น


thumbnail_นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ ได้ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จ.นางาโนะ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี (SMEs) ของทั้ง 2 ประเทศ ให้ได้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากร การร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใน จ.นางาโนะ และประเทศไทยมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นในการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การสื่อสาร ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 ได้เป็นอย่างดี

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้แก่ 1.เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ของไทย ให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับญี่ปุ่น, 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเทคนิค การตลาด การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม และ 3.การส่งเสริมความเชื่อมโยงในสาขาอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ตามหลักแนวคิด Otagai Business ที่มุ่งสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษาศักยภาพทางอุตสาหกรรมของ จ.นางาโนะ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง หรือ การผลิตแบบโมโนซุคุริ (Mono ZuKuri) โดยเฉพาะในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุปกรณ์สื่อสาร ซึ่ง กสอ. จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดและพัฒนาให้กับ SMEs ในกลุ่มดังกล่าวของไทย รวมถึงนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ ITC ที่จัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ สาระสำคัญในการดำเนินความร่วมมือกับ จ.นางาโนะ ในครั้งนี้ ยังมุ่งที่จะศึกษาเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง เช่น ชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟน เครื่องปรินเตอร์ กล้องถ่ายรูป รวมถึงแผงวงจรที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ซึ่ง จ.นางาโนะ ถือเป็นเมืองชั้นนำในการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพในด้านความละเอียด ความแม่นยำ และการควบคุมการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนนี้จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนหรือแผงวงจรอิล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเทคนิคในการทำให้มีความอัจฉริยะและขนาดที่เล็กลง ซึ่งตลาดทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและแข่งขันกันในระดับที่สูงมาก


thumbnail_นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน มีบริษัทจาก จ.นางาโนะ ที่ลงทุนในประเทศไทย จำนวน 113 บริษัท จากจำนวนทั้งสิ้น 1,150 บริษัท ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จังหวัดดังกล่าวนอกจากจะมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลปี 2557 พบว่า ยอดมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์ของ จ.นางาโนะ ภายในประเทศสูงถึง 5.45 ล้านล้านเยน ถือเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกล้องถ่ายรูป นาฬิกา และกล่องดนตรี ที่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของจังหวัด และหลายรายการก็ถือครองสัดส่วนการตลาดในประเทศเป็นอันดับ 1 อีกด้วย

"การลงนามความร่วมมือระหว่าง กสอ. และ จ.นางาโนะ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 18  ของความร่วมมือในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกับ กสอ. ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุก ๆ ด้าน ซึ่งมั่นใจว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ สำหรับก้าวต่อ ๆ ไปในอนาคต ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของ จ.นางาโนะ และประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างประโยชน์ในลักษณะ Win-Win ให้กับภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ต่อไป"

595959859