แนะ สสว. อัดงบพัฒนาตลาด SMEs ชี้! แยกกลุ่มให้ชัด ลับสมองรับ "ไทยแลนด์ 4.0"

25 ต.ค. 2561 | 05:51 น.
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียงถึง สสว. อยากให้ช่วยพัฒนาเรื่องการตลาด พร้อมอบรมบุคลากรให้พร้อมรับไทยแลนด์ 4.0 แนะแยกกลุ่มอุตสาหกรรมให้ชัด ยอมรับการทำงานซํ้าซ้อนกันจริง ชี้! ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเป็นจุดให้บริการที่เดียวเบ็ดเสร็จ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับการอนุมัติแผนการเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล จำนวน 1,234.7077 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศ พร้อมเตรียมนำเสนอปรับเปลี่ยนนิยามเอสเอ็มอี โดยการใช้เกณฑ์การจ้างงานและรายได้ เพื่อกำหนดกลุ่มของเอสเอ็มอีที่ชัดเจน

ขณะที่ ทางกระทรวงพาณิชย์ โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็มีแนวคิดเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของ สสว. ให้เป็นหน่วยงานที่กำหนดยุทธศาสตร์และการวัดผล (KPI) หน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา สสว. มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก แต่หลาย ๆ งาน ก็ซํ้ากับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม

ต่อเรื่องดังกล่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เคยร่วมโครงการกับ สสว. ถึงเรื่องดังกล่าว และความต้องการที่มีต่อ สสว. ในการดำเนินงานในอนาคต โดย นางโยษิตา บุญเรือง กรรมการ บริษัทท ไนท์ แบล็ค ฮอร์ส ไวน์เนอร์รี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไวน์ผลไม้ ระบุว่า จากงบประมาณที่ สสว. ได้รับในปี 2562 นั้น ต้องการให้นำมาใช้เพื่อสนับสนุนทางด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่โครงการที่จัดขึ้นจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่


TP13-3412-A

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วมองว่า เรื่องบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอี เพราะหากเป็นผู้ประกอบการที่มีกระบวนการผลิตพร้อมจำหน่ายแล้ว การหาบริษัทที่รับจ้างออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์จะสะดวกมากกว่า เพราะบริษัทดังกล่าวเหล่านี้จะมีแนวคิดและความเชี่ยวชาญทางด้านดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแค่ผู้ประกอบการมีไอเดียไปนำเสนอว่าต้องการอย่างไร ก็จะได้รับคำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้กับความต้องการของตลาดได้โดยง่าย

ต้องการให้มีโครงการพัฒนาและอบรมบุคคลากรภายในองค์กร เนื่องจากประเทศไทยเองมียุทธศาสตร์ที่ต้องการจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือ การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ดังนั้น จึงมองว่าควรที่จะมีการให้ความรู้และอบรมบุคคลากรดังกล่าวเหล่านี้ให้มีความรอบรู้ด้วย เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของประเทศและพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอี

ส่วนประเด็นเรื่องการปรับบทบาทของ สสว. นั้น มองว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ หรือ กระทรวงอุตสาหกรรม และ สสว. ก็จะเป็นโครงการที่ซํ้าซ้อนกัน และส่วนใหญ่จะเป็นการอบรมแบบอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งมองว่า ไม่ค่อยเกิดประสิทธิผลเท่าใดนักและเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ หากเป็นไปได้ ต้องการให้แยกกลุ่มแต่ละประเภทให้ชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ก็ให้แยกไปเลยว่าเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม อาหารแห้ง เป็นต้น เพราะแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกันและจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า

ด้าน นายนัฐภูมิ โล่กันภัย กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โคฟูกุ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแมว กล่าวว่า หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของ สสว. จริง ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น มองว่า สสว. ควรส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เป็นแบบเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมทางด้านบริการ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระทรวงพาณิชย์เอง หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็มุ่งเน้นส่งเสริมแต่เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้า ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นการซับซ้อนกัน

"สสว. จะมีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น หากมุ่งเน้นการเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมของเอสเอ็มอีที่เป็นเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจน เพื่อลดความซํ้าซ้อน รวมถึงเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากที่สุด นอกจากนี้ ระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์โครงการก็ควรที่จะมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากส่วนใหญ่เอสเอ็มอีจะรับรู้ข่าวก็ต่อเมื่อใกล้จะปิดโครงการแล้ว ทำให้สูญเสียโอกาส และที่สำคัญ กลุ่มที่รับการสนับสนุนส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มเดิม โดย สสว. ควรจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในอนาคตล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเลือกว่าจะเข้าร่วมกับโครงการใดที่ตรงกับธุรกิจ"

ขณะที่ นายสมศักดิ์ อำนาจมโนธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มสด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนํ้าสมุนไพร กล่าวว่า การดำเนินงานของ สสว. ที่ต้องการให้มีอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และควรช่วยเหลือทางด้านช่องทางในการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับการพัฒนาทางด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งจะต้องผสมผสานไปกับการให้องค์ความรู้ทางด้านการส่งออก เพราะการเข้าถึงสื่อออนไลน์จะทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น

"เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องตลาดส่งออก ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียโอกาสทางการค้า ดังนั้น จึงควรที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่จะคอยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ"

หากถามว่า สสว. ควรที่จะเปลี่ยนบทบาทจากการทำงานที่ซับซ้อนกันหรือไม่นั้น ในมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่าควรที่จะมีจุดให้บริการแบบที่เดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยอาจจะเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกงานเพื่อให้มารวมอยู่ที่จุดเดียว เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าเอสเอ็มอีไม่ได้มีเวลามากนักในการที่จะต้องเดินทางไปยังหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้เพื่อติดต่อประสานงาน เนื่องจากต้องใช้เวลาไปกับการทำธุรกิจ


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3412 วันที่  25-27 ตุลาคม 2561

090861-1927-9-335x503-8-335x503-9