พาณิชย์ชี้น้ำปลาไทยไม่ได้ถูกห้ามนำเข้าสหรัฐยังส่งออกได้

24 ต.ค. 2561 | 12:36 น.
พาณิชย์ชี้น้ำปลาไทยไม่ได้ถูกห้ามนำเข้าไปสหรัฐ ยังส่งออกได้ เพียงแต่ถูกกักในบางยี่ห้อเพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตเท่านั้น คาด USFDAใช้เวลา2-3เดือนในการพิจารณา

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ( USFDA) ห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยบางยี่ห้อว่าไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้าแต่เป็นการสุ่มตรวจสินค้าที่มีการนำเข้าจากหลายพันรายการตามปกติ ซึ่งหากทางบริษัทนำเอกสารไปชี้แจงต่อหน่วยงานของสหรัฐได้ก็จะผ่านการพิจารณาและให้นำเข้าได้ตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจาณา 2-3 เดือน ทั้งนี้น้ำปลาจากไทยที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายในสหรัฐนั้นรวมแล้วมีกว่า 30 ยี่ห้อ การที่สินค้าจากล็อตนี้จากยี่ห้อเดียวถูกห้ามนำเข้าจึงไม่ทำให้น้ำปลาขาดตลาดหรือส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของสินค้าน้ำปลาไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยเผยแพร่ข่าวสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกน้ำปลาไปทั่วโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกต่อปีประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกของไทยยังคงเป็นสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกระหว่างมกราคม - กันยายน 2561 มากถึง 8.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกมากถึง 20 % ของการส่งออกจากทั่วโลก รองลงมาคือ เมียนมา 4.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น 3.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออสเตรเลีย 2.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลาว 2.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

fishs1

ขณะที่นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA ห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยบางยี่ห้อว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเกิดขึ้นกับน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีกฎระเบียบ 21 CFR Part 123 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 18 ธันวาคม 2540 ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปลาและการประมงทุกอย่างทั้งที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศหรือในสหรัฐต้องได้รับการจัดเตรียม บรรจุและเก็บรักษาให้เป็นไปตามข้อกำหนด HACCP หากผู้ผลิตรายใดไม่ปฏิบัติตามอาจถูกกักกันการนำเข้าสินค้า โดยไม่ต้องมีการตรวจตัวสินค้าจนกว่าจะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามข้อแนะนำของการแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว

ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ทาง USFDA ได้ออกคำเตือนในบัญชีแจ้งเตือนสินค้าที่ถูกกักกันการนำเข้า หรือ Import Alert 16-120 กับน้ำปลาตราปลาหมึก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. อยู่ในระหว่างการช่วยเหลือเอกชน และเจรจาผลักดันให้ FDA ยกเลิกหรือผ่อนผันการกักสินค้าน้ำปลาจากผู้ประกอบการไทย โดยผู้ประกอบการยินดีให้มีการตรวจสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนตามที่กังวล

นอกจากน้ำปลาตราปลาหมึกที่ถูกแจ้งเตือนแล้วยังมีน้ำปลาอีก 3 ยี่ห้อ ถูกเตือนเช่นเดียวกัน ได้แก่ น้ำปลาตราพูนสิน ทิพรส ซึ่งถูกเตือนตั้งแต่ปี 2557 ส่วน ไซ่ง่อน ยี่ห้อนี้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 นอกจากน้ำปลาไทยแล้ว ยังมีน้ำปลาที่ผลิตจากเวียดนาม 1 ราย คือ ตันฮา ฟิซซอส (Thanh Ha Fish Sauce) ซึ่งถูกเตือนตั้งแต่ 12 มกราคม 2561ซึ่งการแจ้งเตือนของ USFDA ส่งผลให้น้ำปลายี่ห้อที่ถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้ในขณะนี้จนกว่าจะมีการนำเอกสารชี้แจงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย แม้ว่าไทยจะโดนเตือนแต่การส่งออกน้ำปลายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกน้ำปลาที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 22-24 %

090861-1927-9-335x503-8-335x503

ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงหลังกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว น้ำปลาจากประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา ว่าในส่วนของกรมประมง อยู่ระหว่างการจัดทำและรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการหมักน้ำปลาที่สามารถป้องกันการเกิดสารโบลูทินัม และฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการนำเสนอแนวทางการป้องกันปัญหากับ USFDA ต่อไป ส่วนกระบวนการให้ความร้อนซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ USFDA เสนอนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่ของไทยไม่นิยมนำมาใช้ปฏิบัติ เนื่องจากจะทำให้กลิ่นและรสเฉพาะของน้ำปลาเปลี่ยนแปลงประกอบกับกระบวนการผลิตน้ำปลา มีการใช้เกลือในปริมาณสูงเพียงพอที่จะยับยั้งการเกิดเชื้อโรคและสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้ง กระบวนการผลิตน้ำปลาของไทย ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการต้ม แต่ก็เป็นการผลิตตามมาตรฐานการผลิตน้ำปลา(Standard for Fish Sauce; Codex Stan 302-2011) ของ CODEX ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

ดังนั้น การออกประกาศเตือน Import Alert น้ำปลาไทยในครั้งนี้ จึงไม่ได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การห้ามนำเข้า (Import Ban) น้ำปลาจากประเทศไทยทั้งหมดอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นการห้ามนำเข้าเฉพาะโรงงานที่อยู่ใน Import Alert เท่านั้น และไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะ USFDA ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ตรวจสารก่อมะเร็งในผลิตภัณฑ์น้ำปลาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใดเนื่องจากไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการผลิตน้ำปลา ประกอบกับประกาศ Import Alert เลขที่ 16-120 ก็มิได้มีการกล่าวถึงการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งในน้ำปลาด้วย

ทั้งนี้เน้นย้ำให้ผู้ส่งออกของไทยเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA เพื่อให้สินค้าของตนเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดและสามารถส่งออกไปขายสหรัฐได้ และขอให้ประชาชนผู้บริโภค อย่าเพิ่งวิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าว

595959859