9 แบงก์ ฟันกำไรอู้ฟู่! 3 ไตรมาส 1 แสนล้าน

24 ต.ค. 2561 | 09:28 น.
241061-1618

"รายได้ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม-เงินลงทุน" หนุนกำไรแบงก์ไตรมาส 3 เพิ่ม 12.37% สวนกระแสยกเว้นค่าธรรมเนียม แม้ค่าใช้จ่ายเพิ่ม "กรุงศรี-ทีเอ็มบี" ชี้ช่วงที่เหลือแนวโน้มลงทุนเอกชนและบริโภคหนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์แนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความต้องการสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอี ขณะที่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังโตต่อเนื่อง

ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 34,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,817 ล้านบาท หรือ 12.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 30,837 ล้านบาท ขณะที่ งวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิรวม 101,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,728 ล้านบาท คิดเป็น 7.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 94,462 ล้านบาท


107265

โดยธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยงวดไตรมาส 3 เพิ่ม 78.83% และ 49.83% สำหรับงวด 9 เดือน รองลงมาเป็นธนชาติ กำไรเพิ่มขึ้น 38.14% ไตรมาส 3 และ 34.41% ในงวด 9 เดือน และธนาคารทหารไทยกำไรเพิ่มขึ้น 25.70% ในไตรมาส 3 และ 14.02% ในงวด 9 เดือน

อย่างไรก็ตาม มีหลายธนาคารที่ผลประกอบการลดลง เห็นได้จากธนาคารกรุงเทพ มีกำไรเพิ่ม 10.07% ในไตรมาส 3 แต่กลับลดลง 0.19% ในงวด 9 เดือน ธนาคารกรุงไทยกำไรสุทธิลดลง 2.21% ในไตรมาส 3 แต่เพิ่ม 14.12% ในงวด 9 เดือน และไทยพาณิชย์กำไรเพิ่ม 5.24% ในไตรมาส 3 แต่ลดลง 8.96% ในงวด 9 เดือน

สาเหตุหลักของการทำกำไรสุทธิมาจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แม้จะยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิตอล โดยทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ, รายได้มิใช่ดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้น บวกกับกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เช่น ธนาคารกรุงเทพ มีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่ม 10.3% รายได้จากอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% รายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 15.7% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตฯ กำไรสุทธิจากเงินลงทุน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากบริการประกันผ่านธนาคาร จากกองทุนรวมและธุรกิจหลักทรัพย์


bbl1

สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมลดลงจากสิ้นเดือน มิ.ย. ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ ภาคสาธารณูปโภคและภาคอื่น ๆ ขณะที่ เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และงวด 9 เดือน สินเชื่อเพิ่มโดยเฉพาะธนาคารกรุงศรีอยุธยา เงินให้สินเชื่อเพิ่ม 7.5% หรือ 116,475 ล้านบาท เทียบสิ้นเดือน ธ.ค. และเพิ่ม 1.5% หรือ 24,581 ล้านบาท เทียบสิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยทั้งสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีเป็นปัจจัยหนุน ขณะที่ ไทยพาณิชย์การขยายตัวสินเชื่อต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 6-8% แต่คาดว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้า โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตส่วนใหญ่เป็นการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพิ่ม 6.1% เอสเอ็มอี 1.7% สินเชื่อเคหะเพิ่ม 3.4%

อย่างไรก็ตาม หากแยกพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะพบว่า งวด 9 เดือน ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยนอกจากธนาคารทหารไทย ที่ออกมาระบุว่า เพิ่มขึ้นถึง 13.3% แล้ว ที่เพิ่มมากสุด คือ ธนาคารเกียรตินาคิน ที่เพิ่มขึ้นถึง 47.9% ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจก่อสร้างเพิ่มขึ้น 21.9% และธนาคารกรุงศรีเพิ่มขึ้น 11.4%

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 31,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,795 ล้านบาท หรือ 9.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2,926 ล้านบาท หรือ 4.17% ซึ่งเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ เงินลงทุน และรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.41% ขณะที่ รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินเพิ่มขึ้นจากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน

 

[caption id="attachment_337291" align="aligncenter" width="335"] พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 อยู่ที่ระดับ 3.30% เท่ากับสิ้นปี 2560


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เอกชนหวั่นยอดโอนวูบ 2 หมื่นหน่วย! วอนรัฐลดภาษี แลกแบงก์ชาติคุมเข้ม
เปิดศึกชิงเงินฝากแบงก์ตุนเงินรับปล่อยสินเชื่อ หนีดอกเบี้ยขึ้น


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน