"ทวีศักดิ์"ยันผังเมืองใหม่ต้องตอบโจทย์โตทั้งกทม.-ปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ

24 ต.ค. 2561 | 04:28 น.
รองผู้ว่าฯกทม.ยันผังเมืองรวมใหม่ต้องตอบโจทย์การเติบโตทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ " ผังเมืองกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไร้รอยต่อ ชี้ทิศทางการพัฒนาเมือง ในการเปิดงานสัมมนา "ผังเมืองใหม่ เมกะโปรเจ็กต์ :พลิกโฉม กทม." ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ว่า ปัจจุบัน กทม. ถือเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง และการพาณิชย์ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์มากถึง 5.7 ล้านคน โดยไม่นับรวมประชากรแฝงที่มีมากอีกเท่าตัว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับ โดยเฉพาะ การออกแบบผังเมือง ที่ต้องสอดคล้อง กับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่กำลังเชื่อมต่อกันทั้งในกทม.-ปริมณฑล เพื่อให้ประชาชนรับประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน หากนับรวมประชากรทั้ง กทม.และปริมณฑล 6 จังหวัดข้างเคียง จะมีประชากรมากถึง 20 ล้านคน มาก 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ เทียบเท่ากับมหานครยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น โตเกียว นิวยอร์ก ที่ต่างมีผังเมืองรวมเมืองปลีกย่อย เพื่อกำหนดการพัฒนาเมือง และการใช้สอยทรัพยากรร่วมกัน

tavee1

ขณะนี้ แผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้ารวมสายหลักและสายรองความยาว 508 กิโลเมตร มีความคืบหน้าเห็นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง แม้กำหนดแล้วเสร็จจะล่าช้าออกไปประมาณ 2 ปี แต่มีภาพเกิดขึ้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทุกสายกำลังก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมพร้อมระบบการเดินทางเสริม เพื่อให้มีความสอดคล้องกับระบบรางที่จะแล้วเสร็จ เรียกว่าระบบ ล้อ-ราง-เรือ สอดประสานสัมพันธ์กัน ขณะเดียวกัน ขณะนี้ กทม. กำหนดเร่งดำเนินการตามแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายการคมนาคม เช่น ศูนย์บางซื่อ ที่กำลังก่อสร้าง และกำลังพิจารณาจุดเชื่อมต่อย่านฝั่งธนบุรี คือ ตากสิน-คลองสาน เพื่อให้เป็นจุดตัดของการเดินทางรถไฟฟ้าหลายสาย

อย่างภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ มีนบุรี ที่จะกลายเป็นเมืองใหม่ในอนาคต จากการที่มีรถไฟฟ้าหลายสายทั้งที่วิ่งทางตรงและตัดผ่าน เช่น สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีชมพู(รามอินทรา-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เป็นการขยายความเจริญจากกรุงเทพฯที่พื้นที่เริ่มมีความหนาแน่น ออกไปยังรอบนอกมากขึ้นผ่านระบบราง

lan

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ระบบราง ถือเป็นการ ชี้นำการพัฒนาเมือง นั่นหมายถึง การพัฒนาผังมืองรวม กทม.-ปริมณฑล ต้องตอบโจทย์การพัฒนา เครือข่ายระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว เช่น ต้องคำนึงถึงจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่จะมีมากขึ้น ศูนย์คมนาคมใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งศูนย์ขนส่งโลจิสติกส์เพื่อการขนถ่ายสินค้าที่จะมีมากขึ้น และต้องกระจายตัวออกไปให้ครอบคลุม

" สิ่งที่จะเห็นในผังเมืองรวมใหม่นั้น ยังได้แก่ เรื่องการกำหนด เอฟเออาร์ การโอนสิทธิ์แลกเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว การกำหนดทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร ซึ่งในต่างประเทศมีให้เห็นแล้ว ซึ่งในกทม. เองต้องเป็นไปในทิศทางนั้น แต่ยังมีรายละเอียดและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และข้อกฏระเบียบต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผังเมืองใหม่จะต้องตอบโจทย์ เพื่อให้เป็นผังเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั้งในกทม.และปริมณฑล "

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว