ย้ำอี-คอมเมิร์ซไทยแรงไม่หยุด ‘ลาซาด้า’ ลงทุนเปิด ‘ฮัลโลเพย์เมนต์’/ฟูลฟิวเมนต์

28 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
ลาซาด้า เผยแนวโน้มตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยยังสดใสเดินต่อยอดธุรกิจ เล็งผุดบริการอี-เพย์เมนต์ แพ็กสินค้าและจัดส่งไตรมาส 2 สร้างอีโคซิสเต็มส์อี-คอมเมิร์ซครบวงจร พร้อมให้บริการจัดส่งด่วนภายใน 1 วัน ตั้งเป้าหมายเติบโต 10% หลังจากปีที่ผ่านมายอดซื้อขายสะพัดแตะหมื่นล้าน

นายอเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัทลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าแนวโน้มการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซที่น่าสนใจในปีนี้ ประกอบด้วย 1.พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่นิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากประหยัดเวลา และสะดวกสบาย, 2. การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ที่มองว่าการเปิดให้บริการ 4G ในปีนี้จะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยขณะนี้ปริมาณการเข้าเว็บไซต์ลาซาด้ากว่า 60% มาจากอุปกรณ์โมบายทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งผู้บริโภคมีการใช้งานผ่านช่องทางแอพพลิเคชันและโมบายไซต์, 3.พื้นที่วางขายสินค้าโดยเฉพาะห้างในต่างจังหวัดมีพื้นที่การขายสินค้าจำกัด มีสินค้าให้เลือกซื้อน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร, 4. ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี จะได้รับประโยชน์อย่างมากในการเข้ามาใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากสามารถขายสินค้าได้ทั่วประเทศ และสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ และ 5. แบรนด์ใหญ่ อาทิ ซัมซุง ลอรีอัล โยกเม็ดเงินลงทุนจากสื่อดังเดิมมาสู่สื่อดิจิตอลมากขึ้นและเป็นช่องทางเข้าถึงเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซโดยตรง

"ตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทย ยังมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอีก 5 ปี ข้างหน้า เนื่องจากมีสัดส่วนเพียง 1% ของอุตสาหกรรมค้าปลีก ในขณะที่จีนและเกาหลี มีส่วนราว 10% ของอุตสาหกรรมค้าปลีก ดังนั้นอี-คอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล นอกจากนี้ยังเห็นการเข้ามาลงทุนอี-คอมเมิร์ซของแบรนด์สินค้าและบรรดายักษ์ค้าปลีกมากขึ้น ส่วนกรณีที่ราคูเท็น ถอนการลงทุนในตลาดกลาง หรือมาเก็ตเพลสไปนั้นไม่ทราบสาเหตุ มองว่าน่าจะเป็นเรื่องของนโยบายของราคูเท็นที่ต้องการไปโฟกัสซีทูซีมากขึ้น"

นายอเล็กแซนดรอ บิสชินีกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับทิศทางของลาซาด้าในไทยนั้นยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งไทยยังคงเป็นตลาดที่มีความสำคัญของลาซาด้าในภูมิภาคนี้ โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย แต่ไทยมีกำลังซื้อสูงกว่าอินโดนีเซีย 2 เท่า ซึ่งปีนี้บริษัทจะมุ่งการลงทุนพัฒนาบริการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดให้บริการฮัลโล เพย์เมนต์ ราวไตรมาส 2 ของปีนี้และบริการฟลูฟิวเมนต์ ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้า การแพ็กกิ้งสินค้าจนถึงการจัดส่งสินค้าให้กับร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถจัดส่งสินค้าด่วนให้กับลูกค้าได้ภายในวันที่มีคำสั่งซื้อ หรือวันถัดไปได้ทันที อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวอาจมีค่าบริการเพิ่มสำหรับลูกค้าแต่ไม่น่าเกิน 50 บาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวไตรมาส 2 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมุ่งการดึงเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด เข้ามาขายสินค้าผ่านลาซาต้ามากขึ้นด้วย

"ปีที่ผ่านมาเราได้ลงทุนคลังสินค้าแห่งใหม่ มีเนื้อที่ 5,000 ตารางเมตร และมีคลังสินค้าขนาดเล็ก เนื้อที่ 200 ตารางเมตรอีก 16 แห่ง กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ซึ่งปีนี้ยังลงทุนขยายคลังสินค้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และใช้มอเตอร์ไซค์ในการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วภายใน 1-2 วันทำการ พร้อมทั้งเปิดให้บริการเพย์เมนต์และฟลูฟิวเมนต์ ทำให้เรามีอีโคซิสเต็มส์ ในการให้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจร"

สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะมุ่งให้ความสำคัญปีนี้จะเป็นกลุ่มอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์ยานยนต์ ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะกลุ่มสินค้าขายดียังเป็นสินค้าแฟชั่นและความงาม โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ 10% จากปีที่ผ่านมามียอดเม็ดเงินซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้าทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559