"เศรษฐกิจไทยก่อนเลือกตั้ง" ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้า! กดจีดีพีปี 62 โตช้ากว่า 4%

25 ต.ค. 2561 | 12:08 น.
"ตัวเลขส่งออก" เดือน ก.ย. ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาเมื่อวันก่อน เล่นเอาอึ้งกันไปทั้งเมือง เมื่อพบว่า หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยติดลบถึง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนลดลง 14.1% ขณะที่ ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวเพียง 1.2% ทั้งที่ก่อนหน้าหลายฝ่ายจะมองว่า ผลกระทบตรง ๆ จากสงครามการค้าจะเริ่มชัดเจนในปีหน้าเป็นต้นไป

แต่ภาพเศรษฐกิจที่ออกมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พิษจากสงครามการค้าได้ส่งผลแล้ว รวมถึงเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 เอง ก็ขยายตัวเพียง 6.5% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 6.7% ทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ แล้วจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า อย่างไรบ้าง ...

 

[caption id="attachment_337006" align="aligncenter" width="335"] อมรเทพ อมรเทพ จาวะลา[/caption]

"อมรเทพ จาวะลา" ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี แต่อาจไม่ได้เร่งตัวแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่า GDP ไตรมาส 3 จะขยายตัวได้ 4.3% และชะลอลงที่ 4.2% ในไตรมาส 4 โดยเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 4.2% จากที่เร่งตัวแรงที่ 4.8% ในช่วงครึ่งปีแรก และคาดว่าทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 4.5%

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เร่งตัวแรงเหมือนช่วงก่อนหน้าจะมาจากภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากทั้งสงครามการค้าและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยสนับสนุนจะมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณดีขึ้น จากการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ส่วนปี 2562 คาดว่า จีดีพีน่าจะเติบโตได้ที่ 4% อย่างไรก็ตาม นับจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้งในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ต้องระวังใน 4 เรื่อง คือ รากหญ้า แรงงาน รักษาการ และรีพับลิกัน

เริ่มจาก "รากหญ้า" หากดูตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ที่ขยายตัวถึง 4.5% เหมือนว่าการบริโภคโดยรวมฟื้นได้ดี แต่ถ้าดูไส้ใน จะเห็นว่ายังกระจุกตัวในหมวดรถยนต์ หรือ กำลังซื้อระดับกลาง-บนดี แต่กลุ่มอื่น ๆ กลับโตน้อยมากถึงกับหดตัวในบางกลุ่มด้วยซํ้าไป และรู้กันว่ากำลังซื้อของคนระดับกลางถึงล่างยังไม่ขยับ


090861-1927-9-335x503-8-335x503

ขณะที่ "ด้านแรงงาน" เอง แม้การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวแรงขึ้นในปีที่ผ่านมา และแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้า แต่การลงทุนรอบนี้เป็นการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แม้จะเป็นเรื่องดีสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ระยะสั้น ค่าจ้างโดยรวมจะเติบโตช้า ซึ่งหากพัฒนาฝีมือค่าจ้างจะดีขึ้นในอนาคต

ส่วนรัฐบาลปัจจุบันที่จะกลายสภาพเป็น "รัฐบาลรักษาการ" ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังประกาศเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะประกาศเดือน ธ.ค. ดังนั้น ระหว่างเดือน ธ.ค. ไปจนถึงมีรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลรักษาการจะไม่อนุมัติโครงการใหม่ ซึ่งอาจกระทบการเบิกจ่ายหรือความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อการเดินหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมไว้ ที่สำคัญเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานขึ้นกว่าในอดีต ก่อนที่จะได้นายกรัฐมนตรีหรือไม่

สุดท้าย "รีพับลิกัน" แม้ด้านต่างประเทศจะมีเพียงเรื่องสงครามการค้าที่กดดันการส่งออก แต่ต้องจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ วันที่ 6 พ.ย. นี้ ซึ่งเชื่อว่ารีพับลิกันจะครองเสียงข้างมาก และเดินหน้าสงครามการค้าต่อเนื่อง โดยจะมองหาประเทศอื่นที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นประเทศอันดับที่ 11 ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด ดังนั้น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้ากว่า 4% ในปีหน้าจะมีมากขึ้น


หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859