‘พาที สารสิน’ลั่น นกแอร์กำลังจะกลับมาเข้มแข็ง

28 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
จากการประท้วงหยุดบินของนักบินสายการบินนกแอร์ 5 คน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบิน 18 เที่ยวบิน (รวมเที่ยวบินไป-กลับ) ที่ต้องยกเลิก แต่ปัญหาดังกล่าว ก็ยังคงไม่ยุติแรงกระเพื่อมมีอย่างต่อเนื่อง มาถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้สายการบินต้องทยอยปรับลดและยกเลิกเที่ยวบิน เป็นจำนวนมาก ล่าสุด นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ยืนยันชัดกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ในวันที่ 1 มีนาคม นกแอร์จะกลับมาดำเนินธุรกิจ ตามปกติ

 ชี้สถานการณ์นิ่งแล้ว

ซีอีโอ นกแอร์ เปิดใจว่า สถานการณ์ของนกแอร์ในขณะนี้ ผมมองว่าเป็นโอกาสของนกแอร์ ที่จะมีการจัดระเบียบองค์กร เพื่อล้างบางกลุ่มคนที่มีการชักใยให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติการบินนกแอร์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเขายอมรับหลังการสอบสวนการกระทำของนักบิน 8 คนจากกรณีนักบินไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่มีนักบินบางรายมีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดวินัยร้ายแรงและจงใจละทิ้งหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจของบริษัทและผู้โดยสาร

เมื่อผลการสอบสวนออกมา ทำให้บริษัทต้องไล่นักบินออก จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายศานิต คงเพชร อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ที่ได้ไล่ออกทันทีเนื่องจากมีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน 2.นายวุฒิพร มฤทธิดา รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และนายสุชาติ ภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานการบินและนิรภัยการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน

 ออกยกก๊วนนักบิน 20 คน

เมื่อมีการไล่ออกไป 3 คน ก็เป็นธรรมดาที่จะมีนักบินในกลุ่มเดียวกันอีก 17 คน จะยื่นขอลาออกโดยสมัครใจ เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันที่เข้ามาทำงานกับนกแอร์ตั้งแต่ยุคแรกเมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกิดขึ้น ถ้าเขาไม่รับก็ขอลาออกไป ก็ขอให้โชคดี ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ผมไม่ได้ไปไล่เขาออก แต่ยอมรับว่าการลาออกที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นกแอร์ต้องมีการลดเที่ยวบินรวมถึงยกเลิกเส้นทางบินลงบ้าง นับตั้งแต่เกิดปัญหาจนถึงช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เฉลี่ยราว 20 เที่ยวบิน (รวมเที่ยวบินไป-กลับ) เพราะการหยุดทำการบินของนักบินในเครื่องบิน 1 ลำ จะกระทบเที่ยวบินไป-กลับรวม 4 เที่ยวบินต่อวัน

แต่ทั้งนี้โดยรวมก็ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะนกแอร์ ทำการบินอยู่ทั้งหมด 180 เที่ยวบินต่อวัน และการยกเลิกหรือลดเที่ยวบินในบางเส้นทางบินลงไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สายการบินสามารถรับมือในเรื่องนี้ เพราะทราบล่วงหน้าทำให้มีการปรับแผนการให้บริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้โดยสารให้น้อยที่สุด ทั้งการให้นกสกู๊ต เข้ามาช่วยทำการบินแทน รวมไปถึงการส่งผู้โดยสารให้สายการบินพันธมิตรอื่นๆเช่นสายการบินไทยสมายล์,ไลอ้อนแอร์, การบินไทย หรือแม้แต่สายการบินไทยเวียดเจ็ท ที่ได้เช่าเหมาลำเพื่อขนส่งผู้โดยสารตามตารางบินในแต่ละวัน ส่วนผู้โดยสารที่ไม่สะดวกเดินทาง นกแอร์ก็พร้อมรับผิดชอบชดเชยผู้โดยสารตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ที่กำหนดไว้ซึ่งก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยนกแอร์ได้ขยายกรอบทำการบินผ่านสายการบินพันธมิตรไปจนถึงวันที่ 10 มีนาคมนี้

"หากจะให้ประเมินสถานการณ์ของบริษัทขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมา แม้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนกแอร์ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมยอมรับต้องให้เวลากับการทุ่มเทในการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้โดยสารให้กลับมาใช้นกแอร์อีกครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมา ก็ยังมีสิ่งที่ดีที่จะทำให้การเดินต่อไปของนกแอร์ จะไม่มีการถูกสร้างปัญหาเช่นนี้อีก เพราะกลุ่มที่มีการชักใยอยู่ก็ออกไปแล้ว ทำให้สถานการณ์ของนกแอร์นิ่งขึ้น ทำให้การทำงานมีทิศทางที่ดีขึ้นตามสิ่งที่วางไว้"

ดึงนักบินต่างชาติโบอิ้งเสริม

วันนี้นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น นกแอร์ ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่นกแอร์ต้องทำตัวเองให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล เพราะนกแอร์กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสายการบินพันธมิตรในยุโรป เพื่อสับเปลี่ยนเครื่องบินระหว่างกันในช่วงไฮซีซันและโลว์ซีซัน รวมถึงมองการทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ในอนาคต ดังนั้นการปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเซฟตี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

เพราะแม้ที่ผ่านมานักบินของนกแอร์จะมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้นกแอร์ต้องการยกระดับมาตรฐานให้สูงกว่าเดิม เพื่อให้ผ่านการตรวจสอบในโครงการ IOSA-IATA Operational Safety Auditของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA)และวางระบบการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ซึ่งในการพรี-ออดิต เพื่อมุ่งให้ผ่านการตรวจสอบในโครงการของIOSA นกแอร์ต้องมีการจัดตั้งฝ่ายเซฟตี้ออดิต เพื่อมาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนักบิน เพื่อปรับกระบวนการทำงานใหม่ แทนจากเดิมที่นักบินตรวจสอบกันเองควบทั้งฝ่ายบริหารและเป็นนักบินแยกให้ชัดเจนว่าจะบินก็บินไป ฝ่ายบริหารด้านการบินก็บริหารไป

"ปัญหาของนกแอร์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหานักบินไม่เพียงพอ เพราะปัญหาการขาดแคลนนักบิน ถือเป็นปัญหาในภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินอยู่แล้ว และที่ผ่านมาแม้นักบินของนกแอร์จะถูกดึงตัวไป แต่นกแอร์ ก็มีแผนแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งการปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับจำนวนนักบิน รวมถึงการเปิดรับนักบินใหม่เข้ามาทดแทนซึ่งก็จะมีนักบินทยอยเข้าทำงานอีก 44 คนนับจากต้นเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปสิ่งที่เกิดขึ้นกับนกแอร์ ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างและการบริหารงานในองค์กรเป็นหลัก"

นายพาที ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านอกจากจะปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินให้สัมพันธ์กันแล้ว ในขณะนี้นกแอร์ยังได้รับความร่วมมือจากโบอิ้ง ในการส่งนักบินจากต่างประเทศจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่นกแอร์ จ้างมาให้ช่วยทำการบิน และมีในเรื่องของการเทรนนักบินผู้ช่วยของนกแอร์ ขึ้นมาเป็นกัปตันด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมายที่กพท.สามารถให้สายการบินมีนักบินต่างชาติได้คิดเป็นสัดส่วน 40% และที่ผ่านมานกแอร์ยังไม่เคยมีนักบินต่างชาติมาก่อนซึ่งกลุ่มนักบินเหล่านี้จะเข้ามาเสริมการทำงานแทนนักบินที่ลาออกไปส่วนหนึ่ง

 เดินหน้ายกระดับตามแผน

ดังนั้นในต้นเดือนมีนาคมนี้ สถานการณ์ของนกแอร์ ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งผมพูดได้เต็มปากว่า "นกแอร์กำลังจะกลับมา" และเติบโตอย่างเข้มแข็ง ในฐานะสายการบินต้นทุนต่ำสายเดียวที่มีเจ้าของเป็นคนไทย 100% เพราะนกแอร์ จะดำเนินการจัดโครงสร้างภายในองค์กรได้ตามแผน เพื่อยกระดับให้ทัดเทียมมาตรฐาน EASA ส่งผลให้ต่อไปการร่วมมือกับกลุ่มสายการบินจากต่างประเทศก็จะได้เดินหน้าได้ตามแผน ซึ่งก็มีการหารือร่วมกับหลายสายการบินของยุโรป ในการร่วมเป็นพันธมิตร อาทิ สายการบินยูโร วิงส์, นอร์วีเจียน แอร์ไลน์ส แต่เราจะยังไปหาเขาไม่ได้ ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลซึ่งเป็นสิ่งที่เขายึดไว้อยู่

ส่วนในเรื่องของจำนวนนักบินของนกแอร์ เดิมมีนักบินอยู่ 192 คน ลาออกไป 17 คน แต่ด้วยการดึงนักบินจากต่างประเทศเข้ามา 12 คน รวมกับจำนวนนักบินคนไทยที่นกแอร์เปิดรับสมัครไปก่อนหน้านี้และจะทยอยเข้าทำงานในเดือนมีนาคมนี้อีก 44 คน รวมถึงจากข่าวที่มีนักบินกลุ่มนี้ลาออกไป ขณะนี้ก็มีนักบินที่เคยทำการบินกับนกแอร์อยู่เดิม ที่เคยลาออกไปทำงานให้สายการบินอื่น ก็ติดต่อเข้ามาจะเข้ามาทำงานกับนกแอร์อีกครั้ง หลังจากกลุ่มนักบินเหล่านี้ลาออกไป ทำให้มีแนวโน้มว่าจำนวนนักบินของนกแอร์จะเกินจาก 192 คนในภายในกลางเดือนมีนาคมนี้

เมื่อมีนักบินเข้ามาตามแผนที่วางไว้ นกแอร์ก็จะทยอยกลับมาเพิ่มเที่ยวบินให้ได้ตามเดิม รวมถึงการขยายเส้นทางบินต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่คิดว่าเป็นวิกฤติที่สุดที่เกิดขึ้นกับนกแอร์ และเรื่องเงินก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะนกแอร์ยังมีสภาพคล่อง การดำเนินการทุกอย่างยังเดินหน้าได้ตามแผนไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน เพียงแต่สิ่งสำคัญที่ผมมองคือการสร้างความเชื่อมั่นของผู้โดยสารให้มั่นใจในนกแอร์อีกครั้ง

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการแก้ไขปัญหา และเป้าหมายการขับเคลื่อนนกแอร์ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559