ไฟเขียวเวนคืนที่ดิน แนวรถไฟแขวงทุ่งพญาไท-สามเสนใน ทำไฮสปีดเทรน

27 ต.ค. 2561 | 03:45 น.
กฤษฎีกา ไฟเขียวร.ฟ.ท. เดินหน้าจ่ายค่าเวนคืนที่ดินวงเงิน 490 ล้านบาท กับผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ บริเวณแขวงทุ่งพญาไท และแขวงสามเสนใน หลังตีความแล้วเป็นโครงการเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตีความกรณีพระราชกฤฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท เพื่อสร้างทางรถไฟและเครื่องประกอบทางรถไฟ ตามโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ซึ่งเป็นโครงการเดิมตั้งแต่ปี 2558 แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ได้มีมติให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีขอบเขตงานประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีขนส่งผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง 2.โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท และ 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ -ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ดังนั้น เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นไปตามแผนงาน ร.ฟ.ท.และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่จัดสรรไว้วงเงิน 490 ล้านบาท ให้กับผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้ จึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณากรณีการนำที่ดินจากการเวนคืนดังกล่าวมาใช้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าจะเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ใช้พื้นที่ในช่วงดอนเมือง-พญาไท เป็นโครงการร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

tp11-3412-a

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีดังกล่าวทางคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา เชื่อมต่อกันเป็นเส้นทางเดียวอย่างไร้รอยต่อ

โดยมี 2 โครงการที่จะต้องดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ซึ่งได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนไว้ตั้งแต่ปี 2558 และได้ทำการสำรวจรายละเอียดที่ดิน อาคารต้นไม้ยืนต้น และพืชผล และได้เริ่มทำสัญญากับผู้ถูกเวนคืน เพื่อจะได้มอบพื้นที่ก่อสร้างให้ได้ตามแผนดำเนินงาน

090861-1927-9-335x503-8-335x503

จากผลการพิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลไว้ว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎหมายเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนไว้ให้ชัดแจ้ง ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 ที่ประกาศออกมานั้นถือว่าได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการเวนคืน เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟและเครื่องประกอบทางรถไฟ ตามโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ไว้อย่างชัดแจ้ง และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการดังกล่าวรวมเป็นโครงการเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เชื่อมต่อเป็นเส้นทางเดียวอย่างไรร้อยต่อ

ดังนั้น การนำที่ดินไปใช้เพื่อสร้างโครงการดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาแล้ว

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว