ศก.จีน วูบรอบ 10 ปี! หวั่นพิษลามถึงไทย

23 ต.ค. 2561 | 06:43 น.
231061-1330

หัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกผ่านช่วงวิกฤติมาหลายยุคสมัย อย่าง 'จีน' ได้เข้าสู่ภาวะแผ่วกำลังลงอย่างชัดเจนแล้ว ท่ามกลางไอระอุของสงครามการค้าที่จีนเปิดศึกกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงกลางปี ประกอบกับนโยบายปรับสมดุลเศรษฐกิจของจีนเอง ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 ชะลอแรง จาก 6.7 เหลือ 6.5% เป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี

รัฐบาลจีนเปิดเผยตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจล่าสุด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) จีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัวในอัตราเพียง 6.5% ซึ่งต่ำกว่าคาดหมายและยังเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่จีนผ่านพ้นวิกฤติการเงินโลกครั้งล่าสุดมาได้ (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2550-2551) หรือนับจากไตรมาสแรกของปี 2552 ก่อนหน้านี้มีความคาดหมายว่า เศรษฐกิจจีนจะชอลอการเติบโตจาก 6.7% ในไตรมาส 2 มาอยู่ที่ 6.6% แต่ตัวเลขจริงกลับออกมาต่ำกว่าคาด

 

[caption id="attachment_336814" align="aligncenter" width="503"] ©Erdenebayar ©Erdenebayar[/caption]

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นเรื่องยากแล้วที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะดีดกลับมาอยู่ที่ระดับ 6.6-6.7% ในทุก ๆ ไตรมาส ท่ามกลางบริบทของการปฏิรูปและปรับสมดุลทางเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเอง ผนวกกับแรงกดดัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดศึกทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้าโต้ตอบกัน

นับตั้งแต่ต้นปีมา การขยายตัวของจีดีพีรายไตรมาสของจีนลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 6.8% ในไตรมาสแรก สู่ 6.7% และ 6.5% ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งในปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยทั้งปีไว้ที่อัตรา 6.5%

ท่ามกลางสภาวะการเผชิญหน้าทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลง สกุลเงินหยวนของจีนได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเทขายหุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายกันในสกุลเงินหยวนอย่างมาก ทำให้มีการคาดหมายว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าลงทำสถิติที่ระดับ 7.01 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ภายในสิ้นปีนี้ (จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 6.8725 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ สภาวะตลาดหุ้นของจีนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ดำดิ่งลงไป 2.9% เมื่อวันอังคาร (16 ต.ค.) เป็นผลจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน การคาดการณ์เชิงลบเกี่ยวกับสงครามการค้าและกระแสการเทขายหุ้นที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีน (PBOC) โดย นายอี้ กัง ผู้ว่าการฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นจีนในระยะนี้ เป็นผลมาจากความคาดหวังและขึ้นลงตามอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแรงดีอยู่ PBOC เองได้ออกมาตรการที่เอื้อให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถเพิ่มสภาพคล่องเงินสดให้กับธุรกิจท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนการออกหุ้นกู้และการระดมทุนของภาคเอกชนด้วย

 

[caption id="attachment_336816" align="aligncenter" width="503"] ©moerschy ©moerschy[/caption]

"เราจะได้เห็นมาตรการในเชิงผ่อนปรนจากจีนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ล่าสุด รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกของจีน ได้ออกมาตรการกระตุ้นชุดใหญ่ ทั้งด้านภาษี ที่ดิน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เป็นกระแสหลักของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในจีน" นายหลี่ กัง หลิว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารซิติ ในประเทศจีน ให้ความเห็น

ในแง่ของประเทศคู่ค้ากับจีน มาตรการใหม่ ๆ ที่จีนออกมานั้น เป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะอาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ยกตัวอย่าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนประกาศจะปรับโครงสร้างการคืนภาษีสินค้าส่งออกสำหรับสินค้าจำนวน 397 รายการ ซึ่งน่าสังเกตว่า ใน 300 กว่ารายการนี้ มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เหล็กถึง 85 รายการ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยอาจจะต้องรับศึกหนักกับการแข่งขันจากเหล็กนำเข้าจากจีน ที่เดินสายถล่มตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐกิจจีนวูบรอบ 10 ปี หวั่นลามถึงไทย
โยกเงินลงหุ้นญี่ปุ่น-จีน


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว