ITEL ลุ้น 3 โปรเจ็กต์! เชื่อมข้อมูล ปณท - เน็ตชายขอบหนุนแบ็กล็อกกว่า 5 พันล้าน

26 ต.ค. 2561 | 09:48 น.
ITEL ลุ้นงาน 3 โปรเจ็กต์ โครงข่ายเชื่อมข้อมูล ปณท - เน็ตชายขอบเฟส 2 หลังยื่นประมูล 3 สัญญา โครงการติดตั้งท่อร้อยสายใต้ดินของ กทม. หนุนแบ็กล็อกพุ่งกว่า 5 พันล้านบาท มั่นใจ! ปี 61 โตตามเป้า 40% จากแบ็กล็อก 2.5 พันล้านบาท - ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 2 คาดสิ้นปีมีผู้ใช้บริการถึง 60%

นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)หรือ ITEL เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มั่นใจปีนี้รายได้ทั้งปีของบริษัทจะเติบโตตามเป้าหมาย 40% หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท หลังครึ่งปีมีรายได้เข้ามาแล้วกว่า 859 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของเป้ารายได้รวม และยังมีแบ็กล็อก (Backlog) กว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 30-40% จะทยอยรับรู้รายได้หมดภายในปีนี้ และเมื่อรวมกับรายได้ที่หาใหม่ ทำให้เชื่อว่าจะไปถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน

 

[caption id="attachment_336971" align="aligncenter" width="335"] ณัฐนัย อนันตรัมพร ณัฐนัย อนันตรัมพร[/caption]

"ไตรมาส 4/2561 ยังมีหลายโครงการที่เราอยู่ระหว่างรอผลประมูล อาทิ งานบริการโครงข่ายเชื่อมข้อมูล หรือ ดาต้าเซอร์วิส ให้กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มีผู้เข้าชิงประมูล 7 ราย มูลค่างาน  490 ล้านบาท (รวมมูลค่าเพิ่ม) หากบริษัทชนะประมูลคาดจะเซ็นรับงานได้ในเดือน พ.ค. 2562 และจากมติคณะกรรมการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเจ้าภาพในการลงทุนท่อร้อยสายใต้ดินทั้งหมด หากมติดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น ก็จะเริ่มดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง"

ล่าสุด เดือน ต.ค. นี้ บริษัทยังได้เข้าร่วมประมูลโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบเฟส 2 ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดประมูลอีก 8 สัญญา ในโครงการเดียวกัน มูลค่าสัญญาละ 2,500 ล้านบาท บริษัทได้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 3 สัญญา คาดสิ้นเดือนนี้ หรือ ต้นเดือน พ.ย. น่าจะมีความชัดเจน โดยโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบเฟส 1 ในปีที่ผ่านมา บริษัทเข้าไปทำมูลค่าทั้งสิ้น 1,980 ล้านบาท งานส่วนนี้ยังเดินหน้าต่อเนื่องไปอีก 5 ปี

"การได้งานโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ จะทำให้บริษัทมีรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ (ROA) เติบโตอย่างมั่นคง ขณะที่ Backlog ก็จะสูงเป็นประวัติการณ์ ถึง 5,400 ล้านบาท โดยเมื่อต้นปี บริษัทมี Backlog 2,500 ล้านบาท จำนวนนี้ 500 ล้านบาท เป็นการติดตั้งโครงข่ายเชื่อมข้อมูลให้เอไอเอส มูลค่า 450 ล้านบาท" นายณัฐนัย กล่าวและว่า

บริษัทตั้งเป้าหมายท้าทายว่า ภายใน 3-5 ปี รายได้ต่อปีจะต้องเติบโตประมาณ 40% ขณะที่ อัตรากำไรสุทธิต้องการจะเติบโตให้ได้ 20% ภายในปี 2564 มาจาก 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.งานบริการโครงข่ายเชื่อมข้อมูล หรือ ดาต้าเซอร์วิส เติบโตต่อปี 20-30% ตั้งเป้าหมายรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของรายได้รวม ปัจจุบัน บริษัทมีฐานลูกค้าทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์, โรงพยาบาล, ปั๊มนํ้ามัน, ผู้ให้บริการมือถือ ฯลฯ ในปีนี้ได้ขยายฐานเพิ่ม เช่น ปั๊มนํ้ามันซัสโก้, อิออน, เงินติดล้อ, เมืองไทยลิสซิ่ง และภาครัฐ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ

2.ธุรกิจให้บริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์มีสัดส่วน 10% ของรายได้ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำในการสร้างและให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ จึงมีอัตราเติบโตเร็วถึงปีละ 30-40% ปัจจุบัน มีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกมี 348 ตู้ ให้บริการครบ 95% หมดแล้ว, แห่งที่ 2 มีจำนวน 624 ตู้ มีผู้มาเช่าแล้ว 160 ตู้ และจะทยอยเช่าอีก 70-100 ตู้ ในเดือนหน้านี้ คาดภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้บริการ 50-60% แผนปี 2562 บริษัทจะให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เหลืออีก 30% โฟกัสกลุ่มธนาคารและหน่วยงานภาครัฐ


MP17-3412-A

และ 3.ธุรกิจให้บริการติดตั้งโครงข่ายคมนาคม สัดส่วน 20-30% ของรายได้ มีแนวโน้มเติบโตไปตาม 4จี และ 5จี ยังอยู่ในเทรนด์ที่ผู้ให้บริการมือถือ หรือ โอเปอเรเตอร์ มีการขยายโครงข่าย บริษัทเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ติดตั้ง ลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ ทรู, เอไอเอส

"มาร์จินของดาต้าเซ็นเตอร์จะสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 45% ขณะที่ ดาต้าเซอร์วิสและการติดตั้งโครงข่ายมาร์จินจะใกล้เคียงกัน ประมาณ 20-30% อย่างไรก็ดี เนื่องจากครึ่งปีแรกมีโครงข่าย 4จี เข้ามามาก ทำให้ธุรกิจติดตั้งโครงข่ายโตก้าวกระโดด โดยมีสัดส่วนนำมากถึง 45%"

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ITEL) ในปี 2561 คาดรายได้เติบโต 43% อยู่ที่ 1,504 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2560 จากธุรกิจติดตั้งโครงข่ายคมนาคมที่ส่งมอบ รวมถึงรับรู้รายได้จากงานโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบเฟส 1 และธุรกิจดาต้าเซอร์วิส ที่เติบโตจากการรักษาฐานลูกค้าเดิมและมีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่ กำไรปี 2561 คาดลดลง 9.7% อยู่ที่ 92.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากแนวโน้มกำไรขั้นต้นที่ลดลงจากการเช่าท่อร้อยสายและค่าเสื่อมราคาจากการลงทุนโครงข่าย การขาดทุนของดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 2 และการขยายขนาดองค์กร ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดรายได้รวมในปี 2562 จะหดตัว 19% อยู่ที่ 1,221 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรลดลง 18% อยู่ที่ 75.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากรายได้ธุรกิจติดตั้งโครงข่ายคมนาคม ลดลง จากการส่งมอบงานแล้วเสร็จในโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบเฟส 1 แต่หากรายได้ในกลุ่มเพิ่มขึ้นจากการได้งานบริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตชายขอบต่ออีก 5 ปี

นอกจากนี้ หากเจรจากับ กทม. เรื่องการเช่าท่อร้อยสายแล้วเสร็จ คาดว่ากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ รายได้จากดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงทรงตัว และคาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนลดลงจากดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 2 แต่บริษัทอยู่ระหว่างรอการประมูลโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบเฟส 2 โดยตั้งสมมติฐานว่า ได้งาน 1 สัญญา มูลค่าสัญญา 2,000 ล้านบาท จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 34% ที่ 2,021 ล้านบาท และกำไรเพิ่มขึ้น 92.8% ที่ 178.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859