'ไทคานน์' พลังไฟฟ้า! 'ปอร์เช่' ปรับไลน์ผลิต 4.0 – ลุย "ฟอร์มูล่า อี"

26 ต.ค. 2561 | 07:20 น.
S18_2923
จากแผนลงทุนกว่า 2.3 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการรถยนต์พลังไฟฟ้าในอนาคต "ปอร์เช่ เอจี" กำลังเตรียมความพร้อมทุกมิติ ตั้งแต่ปรับสายการผลิต บุคลากร แผนแนะนำโปรดักต์ ซึ่งจะประเดิมด้วยรุ่น "ไทคานน์" ในปีหน้า ไปจนถึงขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าในภาพใหญ่

สำหรับ 'ไทคานน์' ถูกพัฒนามาจากรถต้นแบบ "มิสชั่น อี" (Mission E) ที่เผยโฉมตั้งแต่ปี 2558 ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanently Excited Synchronous Motors (PSM) 2 ตัว ช่วยกันขับเคลื่อนล้อทั้ง 4 ให้กำลังสูงสุด 600 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตํ่ากว่า 3.5 วินาที และ 0-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายใน 12 วินาที ส่วนการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้ง รถสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 500 กิโลเมตร (ตามมาตรฐานของ NEDC) พร้อมโหมดซูเปอร์ควิกชาร์จใช้เวลา 15 นาที ก็ได้ประจุไฟเก็บไว้ในแบตเตอรี่ 80%

"การผลิต "ปอร์เช่ ไทคานน์" จะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่กว่า 1,200 คน ที่โรงงานของปอร์เช่ Zuffenhausen สตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี นับเป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างตำแหน่งงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ทั้งนี้ พนักงานใหม่ทุกคนไม่เพียงทำหน้าที่ผลิตไทคานน์เท่านั้น แต่ยังต้องผลิตรถสปอร์ต 2 ประตูรุ่นอื่น ๆ อีกด้วย" Andreas Haffner สมาชิกคณะกรรมการบริหาร ผู้ดูแลรับผิดชอบส่วนงานทรัพยากรบุคคลและพัฒนา กล่าว


44bd7188-b7c1-4b56-ad00-b5e756d74efe_teaser_original_720x1_5

อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพของกระบวนการผลิตรถยนต์และการประยุกต์ใช้ทรัพยากรในสายการผลิตปอร์เช่ ไทคานน์ เรียกว่า "Factory within a Factory" ในโรงงานหลักที่ Zuffenhausen ด้วยกระบวนการผลิตแบบยืดหยุ่น และช่วยเพิ่มจำนวนรอบในการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น บนพื้นที่การผลิตเท่าเดิม ตามแนวคิด "Smart, Green, Lean" จึงสามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรการผลิตได้อย่างดีเยี่ยม

"ปอร์เช่ ไทคานน์" ถูกถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากรถแข่งปอร์เช่ 919 ไฮบริด (Porsche 919 Hybrid) ที่คว้าแชมป์การแข่งขันเลอมังส์ 24 ชั่วโมง มา 3 สมัย ด้วยระบบขับเคลื่อนด้วยแรงดันไฟฟ้า 800โวลต์ มีส่วนสำคัญในการกำหนดบรรทัดฐานให้กับแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ชุดแบตเตอรี่ การจัดวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงปริมาณความจุและกระบวนการชาร์จพลังงาน ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการชาร์จพลังงานย้อนกลับมายังแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ด้วยระยะเวลา 4 นาที สามารถชาร์จพลังงานเพียงพอสำหรับการเดินทางไกลถึง 100 กิโลเมตร (ทดสอบตามมาตรฐาน NEDC) ซึ่งการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ในลักษณะดังกล่าวจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น หลังจากปอร์เช่เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ Formula E ตั้งแต่ฤดูกาล 2019/2020


S18_2922_fine

"เราคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 กว่า 50% ของรถยนต์ปอร์เช่รุ่นใหม่ที่ทำตลาด จะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า" Lutz Meschke รองประธานและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ปอร์เช่ เอจี กล่าวและว่า

นอกเหนือจากกระบวนการผลิตที่ได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ในส่วนของรายรับจากผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิตอลควรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากความสำเร็จของธุรกิจหลักของเรา

'ปอร์เช่' ยังร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง Ionity ซึ่งร่วมดำเนินงานกับบีเอ็มดับเบิลยู, เดมเลอร์ และฟอร์ด เปิดให้บริการสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้ากำลังสูง ติดตั้งหัวจ่ายความจุ 350 กิโลวัตต์ กว่า 400 แห่งทั่วภาคพื้นยุโรป ภายในสิ้นปี 2019

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป และบริษัทผู้ให้บริการด้านสถานีพลังงานชั้นนำ Electrify America จะเริ่มทำการติดตั้งจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้า (ความจุสูงสุด 350 กิโลวัตต์) ในกว่า 300 สถานี ตลอดเส้นทางมอเตอร์เวย์ ตั้งแต่ปี 2019

นอกจากนี้ ปอร์เช่ยังมีแผนติดตั้งจุดบริการชาร์จพลังงานแบบ AC เพิ่มเติมกว่า 2,000 แห่ง อาทิ ภายในบริเวณโรงแรมต่าง ๆ ในกว่า 20 ประเทศ ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับกำหนดการเปิดตัวของ "ปอร์เช่ ไทคานน์" เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเข้าถึงโครงข่ายการชาร์จพลังงาน ผ่านบริการ Porsche Charging Service สำหรับ "ปอร์เช่ เอจี" เพิ่งประกาศว่า ไม่มีแผนพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลอีกต่อไป

ขณะที่ ยอดขายหลังปิดไตรมาส 3 (ม.ค. - ก.ย. 61) รวมทั่วโลกทำได้ 196,562 คัน โต 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรุ่นที่ขายดีสุด คือ เอสยูวีขนาดเล็ก "มาคันน์" 68,050 คัน และ "คาเยนน์" 49,715 คัน แต่ไม่ได้แจกแจงว่าเป็นการขายรุ่นปลั๊ก-อินไฮบริดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ขณะที่ ตลาดใหญ่ที่สุดของปอร์เช่ คือ จีน ในช่วง 9 เดือนนี้ ทำตัวเลขไป 56,254 คัน


หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859