ญี่ปุ่นจัดมหกรรมเทคโนโลยี ตื่นตัวรับกระแส 5G-AI

24 ต.ค. 2561 | 04:33 น.
ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศที่มีความทันสมัยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีความลํ้าหน้ามากที่สุดในขณะนี้ รวมถึงการก้าวสู่เทคโนโลยี 5 จี

ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสเข้าร่วมชมงานมหกรรมเทคโนโลยี หรือ CEATEC JAPAN 2018 ณ ศูนย์การประชุม มาคุฮาริเมสเซ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16-19 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การจัดงานดังกล่าวเป็นนิทรรศการที่นำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมเกี่ยวกับ การใช้ CPS / IoT เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และร่วมสร้างพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาจัดแสดงภาย ในงาน โดยมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดสังคม 5.0 หรือซูเปอร์ สมาร์ท โซไซตี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภายในงานมีการออกบูธโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI), แมชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning : ML), 5G และ IoT

20-3412.indd ลอว์สัน ทดลอง AI

ร้าน Lawson (ลอว์สัน) ดำเนิน ธุรกิจร้านสะดวกซื้อกว่า 1.45 หมื่น สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยมีแนว คิดเรื่อง “การสร้างความสุขและความสามัคคีในสังคม” ปัจจุบันลอว์สันกำลังพยายามสร้างร้านสะดวกซื้อแบบดิจิตอลในรูปแบบใหม่ๆ โดยอาศัยแนวคิด “บริการที่เพลิดเพลินและใส่ใจต่อสุขภาพ” โดยจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการของลูกค้า ด้วยการใช้ประโยชน์ในยุคที่กระแสของอี-คอมเมิร์ซกำลังแพร่หลาย ล่า สุดได้มีการทดลองนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ  และระบบแมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้บริการ ด้วยการจำลองพนักงานต้อนรับในรูปแบบแอนิเมชันจากเอไอ ภายใต้ชื่อ มิกุรุจัง คอยต้อนรับ พร้อมทั้งเสนอคำแนะนำด้านการช็อปปิ้ง ตอบข้อซักถามต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้าน ทั้งนี้มิกุรุจังยังสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบความต้องการสารอาหารของลูกค้าแต่ละราย โดยเชื่อมต่อผ่านระบบต่างๆ ภายในร้าน

ร้านค้าไร้พนักงาน

ขณะที่การสแกนเพื่อตรวจสอบความต้องการสารอาหารของลูกค้าจากมิกุรุจัง ยังสามารถเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ปรุงอาหารภายในร้านที่ออกแบบมาเพื่อเตรียมอาหารตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถเตรียมและปรุงอาหารเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้าได้ อีกทั้งการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษเพื่อลดการใช้พลาสติก การจำหน่ายยาและปรึกษาเภสัชกรผ่านช่องทางเทเลเมดิซิน ที่ลูกค้าสามารถซื้อยาผ่านเภสัชกรผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ รวมถึงการใช้ระบบแคชเชียร์หุ่นยนต์ โดยทางลอว์สันตั้งเป้าที่จะเป็นร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานทั่วประเทศญี่ปุ่นในปี 2568 ด้วยการนำเอไอและแมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้งาน นอกจากนี้บริษัทยังได้เปิดตัวธุรกิจด้านการเงินธนาคารโดยใช้เครือข่ายเครื่องฝากเงินอัตโนมัติกว่า 1.3 หมื่นเครื่องที่ตั้งอยู่ในร้านค้าทั่วประเทศ

เซ็นเซอร์วัดความรู้สึก

ขณะที่บูธของ Panasonic นั้นได้นำเสนอโซลูชัน เซ็นเซอร์การตรวจวัดสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งในโซนของ Human Sensing ได้มีการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ที่ช่วยตรวจวัดความรู้สึกที่มองไม่เห็นของคน เพื่อสร้างความรู้สึกสบายในทุกวันของชีวิต ด้วยแผ่นเซ็นเซอร์วัดความดัน ความร้อนของร่างกาย ความเครียด ความตื่นเต้น หรือแม้กระทั่งความพึงพอใจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเซ็นเซอร์ที่สัมผัสผ่านมือและกล้องตรวจจับม่านตา โดยสามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นของในแต่ละบุคคล

20-3412.indd ปลุกกระแส 5G

ขณะที่ บริษัท TE Connectivity (TE) ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้มุ่งเน้นในเรื่องของ 5G ที่ปัจจุบันได้เริ่มขึ้นแล้วและจะเปลี่ยนทุกอุตสาหกรรม ทั้งการขนส่ง, การเงิน, ภาครัฐ, การเกษตร, การผลิต, การค้า, การก่อสร้าง รวมถึงเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ทั้งนี้ 5G จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยความเป็นระบบอัตโนมัติ ให้กับองค์กรต่างๆ ที่ต้องเริ่มจัดลำดับความสำคัญของการนำ 5G มาใช้ โดย TE Connectivity ก็ได้มีการพัฒนาโซลูชันที่จะช่วยให้สามารถเชื่อมต่อได้ในอนาคต ด้วยความสามารถในการแสดงผลที่เหนือกว่าเครือข่ายปัจจุบัน 5G จะเป็นการปฏิวัติการเชื่อมต่อในอุตสาหกรรมตั้งแต่ด้านสุขภาพไปจนถึงภาคการผลิต

ทั้งนี้งานมหกรรมเทคโนโลยี หรือ CEATEC JAPAN 2018 นั้นได้รับความสนใจจากบริษัท และองค์กรต่างๆ กว่า 700 แห่งใน 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีบูธแสดงนวัตกรรมกว่า 1,700 บูธ ในประเทศไทยเชื่อว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้เทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการร่วมกันผลักดันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง 5G จะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,412 ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859