สืบสาน รักษา ต่อยอด

25 ต.ค. 2561 | 04:10 น.
‘คุ้งบางกะเจ้า’ ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน

ในอดีตพื้นที่กว่า 1.2 หมื่นไร่ครอบคลุม 6 ตำบล ตั้งแต่ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางนํ้าผึ้ง ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง  ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านอยู่กันอย่างยากลำบาก แต่จากสายพระเนตรที่ยาวไกล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงเห็นประโยชน์ของพื้นที่แห่งนี้ และทรงคิดโครงการก่อสร้าง “ประตูระบายนํ้าคลองลัดโพธิ์” ซึ่งนอกจากทำให้ชาวบ้านในชุมชนย่านนี้หลุดพ้นจากปัญหานํ้าท่วมซํ้าซากแล้ว ยังช่วยดับทุกข์ให้คนกรุงเทพฯ รอดพ้นจากปัญหานํ้าท่วมอีกด้วย

ส่วนผลพลอยได้ที่มากด้วยคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง คือ จากความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่า จึงได้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนและท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ส่ง
ผลให้ชาวบ้านและชุมชนย่านนี้ได้มีรายได้จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว

177440

แต่เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คนในชุมชนทั้ง 6 ตำบล ต่างคนต่างทำเรื่องการท่องเที่ยวจากสิ่งที่มีและสิ่งที่เห็นเท่านั้น แต่ยังขาดเรื่องระบบการจัดการ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดปัญหา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงมอบให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานดำเนินการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงวางรากฐานไว้ รัฐบาลจึงมอบให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)  หน่วยงานพัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นหน่วยงานจัดทำแนวทางการพัฒนาพื้นที่บางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบลให้เป็นพื้นที่ขยายผลในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ที่ผ่านมาอพท. ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติงานในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า พบปะพูดคุยกับผู้นำและชุมชน เปิดเวทีทำประชาคมและจัดเวทีต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลพร้อมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับชุมชนคุ้งบางกะเจ้า วิเคราะห์ปัญหา ศักยภาพและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดตั้งคณะทำงานตำบล และจัดให้มีการประชุมคณะทำงานระดับตำบลใน 6 ตำบลคุ้งบางกะเจ้า เพื่อติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนแต่ละตำบล

กระบวนการทำงานของ อพท. เมื่อได้ข้อมูลพร้อมแล้ว วันนี้ จึงได้จัดทำแผนการท่องเที่ยวโดยชุมชน และจัดตั้ง “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน” เป้าหมายคือ การฟื้นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่การดำเนินชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และการสืบค้นเผยแพร่อาหารพื้นถิ่นคุ้งบางกะเจ้า เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

1539161995208

การทำงานของ อพท. ยังเชื่อมโยงกับแนวทางประชารัฐขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและประเมินผลกิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวระดับตำบล โดยได้ประสานเชิญตัวแทนจากชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ อพท. พัฒนาจนประสบความสำเร็จ มาเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับชุมชนด้วยอีกแรงหนึ่ง มุ่งหวังให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าแห่งนี้

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่าจากการลงพื้นที่สืบค้นข้อมูล ประชาพิจารณ์ พูดคุยกับชุมชนจึงได้ค้นพบอัตลักษณ์ของชุมชนทั้ง 6 โดย ตำบลทรงคนอง โดดเด่นด้านวัฒนธรรมมอญ ที่ยังคงฝังรากลึก สะท้อนผ่าน เครื่องแต่งกาย ประเพณี ภาษา สถาปัตยกรรม และอาหาร, ตำบลบางยอ มีเอกลักษณ์ด้านวิถีเกษตร และการอนุรักษ์การทำตาลและเตาตาลสุดท้ายในคุ้งบางกะเจ้า ,ตำบลบางกะเจ้า ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวด้วยพื้นที่สีเขียว และเส้นทางปั่นจักรยานสุดสวย รวมทั้งอุโมงค์ป่าจากที่สมบูรณ์

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503 ส่วนตำบลบางกอบัว วิถีริมคลองแพ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลํ้าค่าด้วยหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ,ตำบลบางนํ้าผึ้ง ชื่อเสียงและรางวัลการันตี ทำให้ชื่อของตำบลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งยังมีการต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน และโฮมสเตย์  และตำบลบางกระสอบ ความร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนทรงคุณค่า ที่จะเป็นฐานข้อมูลชั้นยอดของชุมชน ทั้งยังมีจุดแข็งที่ผลไม้ขึ้นชื่อที่ทำให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นที่รู้จัก

เป้าหมายการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าของ อพท. คือ “การทำให้คุ้งแห่งนี้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นปอดให้กับคนกรุงเทพฯได้ตลอดไป โดยยังคงวิถีชีวิตและความอยู่ดีมีสุขให้แก่ชาวชุมชนเจ้าของพื้นที่” ได้เป็นทั้งที่พัก ที่ทำกินและที่พักผ่อน ให้กับชุมชน ให้การท่องเที่ยวได้เข้ามาสร้างความสามัคคี มีการจัดสรรรายได้กันอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะการทำให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในด้านศักยภาพทางการท่องเที่ยว เพื่อบางกะเจ้าจะได้เป็นสถานที่พักผ่อนใกล้กรุงเทพฯ สำหรับ ได้มาเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต กิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ตามเส้นทางที่ อพท. จะดำเนินการพัฒนานับจากนี้ต่อไป และสิ่งที่สำคัญคือเราจะได้เห็นความสามัคคีร่วมกันทำงานของคนทั้ง 6 ชุมชนในพื้นที่ ที่จะสืบสานวิถีชีวิตของตัวเองให้มีอัตลักษณ์อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859