สหรัฐฯเร่งหาตลาดใหม่ ระบายสินค้า ‘ไม่มีที่ไปกะทันหัน’

24 ต.ค. 2561 | 06:33 น.
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากกันและกัน ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าในภาคการเกษตรอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า refugee soybean หรือ “เรือถั่วเหลืองอพยพ” ที่ผู้นำเข้าในตลาดปลายทางได้ยกเลิกสัญญาหรือชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากเจอภาษีอัตราสูงขึ้น แต่ครั้นจะกลับลำนำสินค้ากลับประเทศต้นทางก็ไม่ได้เพราะเกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายขึ้นแล้ว จึงจำเป็นต้องนำสินค้า “ลอยลำกลางทะเล” นานกว่าปกติ เพื่อหาผู้ซื้อรายใหม่ หรือตลาดใหม่ที่จะรับระบายสินค้าเกษตรเหล่านี้ออกไป กลายเป็นที่มาของคำว่า “เรือถั่วเหลืองอพยพ”

refugeesoybean1

ในช่วงเวลานี้ถ้าเป็นปีที่แล้ว ที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังเป็นไปอย่างปกติ ผลผลิตถั่วเหลืองจำนวนมหาศาลจากสหรัฐฯก็จะถูกลำเลียงจากรัฐดาโกตา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ มุ่งหน้าสู่ท่าเรือเพื่อตัดฝ่ามหาสมุทรแปซิฟิกไปยังประเทศจีน ที่เป็นผู้รับซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด แต่มาปีนี้สถานการณ์แปรเปลี่ยนไปในทางลบ เมื่อสหรัฐฯ และจีนเปิดศึกสาดมาตรการ ทางภาษีใส่กันไม่ยั้ง อัตราภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ถูกจีนขยับขึ้นถึง 25% เริ่มมีผลมาตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดสั่งซื้อจากจีนจึงหดหาย ประกอบกับผลผลิตปีนี้ล้นทะลักออกมามากเนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกต้องเร่งหาตลาดใหม่ระบายสินค้าเหล่านี้ออกไป

ราคาวูบ สินค้าล้นโกดัง

โดยเฉพาะผู้ส่งออกในดาโกตา เป็นตัวอย่างที่น่าเจ็บปวดเพราะถั่วเหลืองส่งออกจากรัฐนี้ มุ่งหน้าสู่ตลาดจีนเป็นหลัก ภายในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตถั่วเหลืองของรัฐดาโกตาพุ่งขึ้นมากกว่า 70% เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดจีนโดยเฉพาะ ประกอบกับเครือข่ายการขนส่งระบบรางได้รับการปรับปรุง ทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองสามารถลำเลียงขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่ท่าเรือริมชายฝั่งแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือได้โดยสะดวกโยธินมากขึ้น แนนซี่ จอห์นสัน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ปลูกถั่วเหลืองแห่งนอร์ธดาโกตา ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ตัวเลขยอดสั่งซื้อเงียบหายและไม่เห็นสัญญาณว่าจะกลับมา แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นไปได้ที่จีนจะใช้วิธีซิกแซ็กสั่งซื้อถั่วเหลืองสหรัฐฯ ผ่านทางประเทศอื่น เช่น อาร์เจนติน่า ที่ปีนี้กลายมาเป็นผู้สั่งซื้อถั่วเหลืองรายใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐฯเนื่องจากผลผลิตภายในประเทศประสบภาวะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลิตเองได้ไม่มากพอกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจากสหรัฐฯ

[caption id="attachment_336569" align="aligncenter" width="503"] ยังคงมีความหวังว่า จีนจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของจีนจำเป็นต้องใช้ถั่วเหลืองจำนวนมากในการผลิตอาหารสัตว์ ยังคงมีความหวังว่า จีนจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของจีนจำเป็นต้องใช้ถั่วเหลืองจำนวนมากในการผลิตอาหารสัตว์[/caption]

เท่าที่ผ่านมา ผู้ค้าจากท่าเรือแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือจะเป็นผู้ประมูลซื้อถั่วเหลือง 70% ของรัฐดาโกตาเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนเกือบทั้งหมด แต่เมื่อปีนี้ ความต้องการจากจีนลดลงมาก ราคาถั่วเหลืองของรัฐจึงปรับลดลงมามากด้วยเช่นกัน “เหมือนจู่ๆ ตลาดก็ปิด สายพานลำเลียง (ถั่วเหลือง) ไปท่าเรือเหล่านี้หยุดชะงัก ถั่วเหลืองพวกนี้เลยถูกเรียกว่า ผู้อพยพ เพราะมันไม่มีที่จะไป” เป็นความเห็นของ ไมค์ สตีนเฮิร์ก ผู้อำนวยการ บริหารองค์กรพันธมิตรการขนส่งถั่วเหลือง ราคาพื้นฐานที่เป็นราคาที่เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองได้รับจะเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายล่วงหน้า (ตลาดชิคาโก) กับราคาเสนอประมูลของผู้ส่งออก ในปีที่ผ่านมา ราคาพื้นฐานที่ผู้ปลูกถั่วเหลืองรัฐนอร์ธดาโกตาได้รับ ขยับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 70 เซ็นต์ถึง 1 ดอลลาร์/บุชเชล เป็น 1.55-2 ดอลลาร์/บุชเชล แต่ขณะนี้ราคาพื้นฐานลดลงมาตํ่ากว่าปกติราว 60 เซ็นต์ ซํ้าราคาซื้อขายล่วงหน้าก็ปรับลดลงมาด้วยนับตั้งแต่ที่สงครามการค้าได้เริ่มขึ้น เกษตรกรบางรายทยอยขายผลผลิตออกไปแล้ว และก็ยังเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อรอดูเหตุการณ์ว่าจะคลี่คลายลงหรือไม่ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่มาก ว่าหากสงครามการค้ายืดเยื้อไปถึงปีหน้า (2562) พวกเขาก็จะมีผลผลิตล้นสต๊อกชนฤดูเพาะปลูกหน้า ซึ่งหมายถึงปัญหาการจัดเก็บ การเก็บรักษาผลผลิต และการหาลูกค้ามารับซื้อไป

เร่งหาตลาดใหม่รับการเปลี่ยนแปลง

พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองในรัฐอื่นๆ อาทิ ไอโอวา อิลลินอยส์ และอินเดียนา ต่างก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนไม่ต่างกัน ราคาผลผลิตหล่นวูบลงมาแล้วราว 17% นับตั้งแต่ที่จีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ แต่รัฐที่อยู่ในเขตมิดเวสต์เหล่านี้มีตลาดส่งออกที่หลากหลายกว่า และไม่ได้พึ่งพาตลาดจีนมากเกินไปอย่างรัฐดาโกตา จึงดูจะได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยกว่า ยกตัวอย่าง ราคาพื้นฐานถั่วเหลืองในรัฐนอร์ธดาโกตาอยู่ที่ 7.03 ดอลลาร์/บุชเชล ซึ่งตํ่ากว่าราคาพื้นฐานในรัฐอิลลินอยส์ประมาณ 11% เป็นต้น

ในปี 2560 สหรัฐอเมริกาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 6.8 แสนล้านบาท) และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกถั่วเหลืองกว่า 12,200 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) ส่วนจีนเองนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ซื้อถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก โดย 2 ใน 3 ของผลผลิตถั่วเหลืองโลกที่มีการส่งออกนั้น เป็นการส่งออกมายังตลาดจีน และส่วนใหญ่จีนซื้อถั่วเหลืองมาเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนกว่า 700 ล้านตัวทั่วประเทศ และใช้สำหรับการผลิตนํ้ามันปรุงอาหาร นอกจากนี้ ยังนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่และปลา

ท่ามกลางอุปสงค์จากตลาดจีนที่ลดวูบลง การระบายสินค้าสู่ตลาดใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน มีการลำเลียงผลผลิตถั่วเหลืองจากดาโกตามุ่งหน้าสู่ท่าเรือทางภาคใต้มากขึ้น เพื่อขึ้นเรือออกไปทางอ่าวเม็กซิโก ท่าเรือทางภาคใต้ของสหรัฐฯ เช่น ในมลรัฐหลุยส์เซียนา มีการจราจรหนาแน่นมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งการขนส่งล่องไปตามแม่นํ้ามิสซิสซิปปี การขนส่งที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกตินี้ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องตระหนักแล้วว่า อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อรองรับได้มากขึ้นในอนาคต

ด้านเกษตรกรเองก็ยอมรับว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า นั่นหมายถึงการหาตลาดใหม่ๆ การนำผลผลิตการเกษตรไปแปรรูปสร้างประโยชน์ใหม่ๆ การใช้งานในรูปแบบใหม่ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเลย ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากยังคงมีความหวังว่า จีนจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของจีนจำเป็นต้องใช้ถั่วเหลืองจำนวนมากในการผลิตอาหารสัตว์ “เมื่อพวกเขาเลี้ยงสุกร ก็จำเป็นต้องนำเข้าถั่วเหลือง เนื่องจากไม่สามารถปลูกเองได้เพียงพอ ฉะนั้น ศึกครั้งนี้ ใครอึดกว่า หรือทนได้นานกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ”

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,412 ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859