ส่ง สนช. ไฟเขียว! ร่างกฎหมายเปิดทางบริษัททำบัญชีเป็นเงินต่างชาติ

22 ต.ค. 2561 | 10:46 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 72/2561 วันศุกร์ที่ 26 ต.ค. นี้ ในระเบียบวาระการประชุมมีเรื่องด่วนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....


การเลือกตั้ง (รัฐสภา)

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกำไร-ขาดทุนสุทธิของทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน ซึ่งมีค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้

1) กรณีเงินตรา ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย โดยถ้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคล ให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คำนวณไว้ หรือ วิธีการคำนวณค่า หรือ ราคาของเงินตรา หรือ ทรัพย์สินเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่ง ธปท. ได้คำนวณไว้ และคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่ง ธปท. ได้คำนวณไว้ หรือ วิธีการอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชี ถ้าเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือ สถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือ หนี้สินเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท. คำนวณไว้

2) กรณีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เงินตราสกุลอื่น นอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสาระสำคัญ คือ

1) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทย เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินการ สามารถแจ้งต่ออธิบดีเพื่อใช้เงินตราสกุลดังกล่าวในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย รวมถึงคำนวณกำไรสุทธิหรือยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และการคำนวณจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย และกำหนดให้การประเมินเงินภาษีและการแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระเพิ่มเติม หรือได้รับคืน รวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และการปฎิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมิน ต้องดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เพื่อให้การใช้เงินตราสกุลอื่นในการดำเนินงานสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นในขั้นตอนการชำระภาษีที่ต้องใช้เงินตราไทย

2) กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่นในงบการเงิน ในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรกก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทย

3) กำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลที่ใช้ดำเนินการ เป็นต้น

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถใช้เงินตราสกุลอื่นนอกเหนือจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ดำเนินงาน ในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย รวมถึงการคำนวณกำไรสุทธิหรือยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และการคำนวณจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียได้ จะทำให้การปฎิบัติจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี อันจะส่งผลเป็นการเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และจูงใจให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทยมากขึ้น

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ...)พ.ศ. .... นั้น มีสำระสำคัญ คือ 1) ยกเลิกบทนิยามคำว่า "คู่สัญญา" เพื่อให้คู่สัญญาทุกประเภทสามารถทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.นี้ได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะคู่สัญญาตามสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ และคุ่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการชำระเงินตามสัญญาเท่านั้น

2) แก้ไขหน้าที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาในการดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ บรรดาที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

3) แก้ไขวิธีการรับรองการฝากเงินและการแจ้งการฝากเงินไปยังคู่สัญญาให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมการซื้อขายห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 บางประการ เพื่อขยายขอบเขตการทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ให้ครอบคลุมสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น และสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อนำระบบการดูแลผลประโยชน์ไปใช้กับธุรกรรมที่มีความหลากหลายและเป็นทางเลือกในการคุ้มครองผลประโยชน์ในการทำสัญญาให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพ

e-book-1-503x62-7