ขนส่งทางบกย้ำชัดห้ามใช้รถจยย.ส่วนบุคคลรับส่งผู้โดยสาร

22 ต.ค. 2561 | 06:20 น.
กรมการขนส่งทางบกยัน พร้อมสนับสนุนการใช้แอพพลิเคชันเรียกรถจักรยานยนต์สาธารณะรับส่งผู้โดยสารที่ถูกกฎหมายและพร้อมดำเนินการกับรถที่ไม่ถูกกฎหมาย ย้ำ! ห้ามใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล(ป้ายดำ)รับส่งผู้โดยสารเด็ดขาด โดยต้องเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะป้ายเหลือง ผู้ขับรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัวและรถต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมสนับสนุนการใช้แอพพลิเคชันเรียกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะรับส่งผู้โดยสารที่ถูกกฎหมาย เพื่อยกระดับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะให้สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนภายใต้การกำกับควบคุมดูแลจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับระบบการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ภายใต้กรอบที่กฎหมายอนุญาต และพร้อมดำเนินการกับรถจักรยานยนต์ที่ไม่ถูกกฎหมายฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร

pee

ทั้งนี้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์สาธารณะรับส่งผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการเป็นรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ต้องมีที่ตั้งวินตามที่ได้รับอนุญาตและต้องให้บริการรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น (ไม่รับผู้โดยสารข้ามเขต) ด้านผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องแต่งกายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด สวมเสื้อวินรูปแบบใหม่ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน และการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด ต้องติดตั้งป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจนในบริเวณที่ตั้งวิน

“กรมการขนส่งทางบกได้มีการชี้แจงไปยังผู้ประกอบการโดยตรง และสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านทางสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า แอพพลิเคชันในการเรียกใช้จักรยานยนต์สาธารณะรับส่งผู้โดยสารนั้นสามารถกระทำได้หากไม่ขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่งประเด็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย คือ การนำแอพพลิเคชันไปใช้เรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล(ป้ายดำ)มารับจ้างรับส่งผู้โดยสาร, การนำรถจักรยานยนต์สาธารณะ(ป้ายเหลือง)ไปใช้ในการรับผู้โดยสารนอกพื้นที่สถานที่ตั้งวินของตน (รับข้ามเขต), ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ (ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก) ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ภาครัฐจะไม่สามารถติดตามรถหรือคนขับรถมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้”

kons

นายพีระพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับอนุญาตแล้วจำนวน 5,638 วิน ผู้ขับรถจำนวน 98,826 คน และอยู่ระหว่างการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ ทหาร ตำรวจและกรุงเทพมหานคร จัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยการเปิดรับลงทะเบียนการขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะครั้งที่ 3 โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2561 ซึ่งขอตั้งวินใหม่อีก 97 วิน จำนวน 923 ราย และเพิ่มผู้ขับขี่ในวินเดิมอีก 10,897 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการรายงานตัวและพิจารณาอนุมัติ

โดยกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เรียบร้อยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในการใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะได้อย่างปลอดภัย สะดวกทั่วถึงและให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“หากพบการฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ จะมีความผิดฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีแต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท การไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหากนำรถจักรยานยนต์สาธารณะของตนไปรับจ้างในสถานที่ตั้งวินอื่นจะถูกพิจารณาถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อในสถานที่ตั้งวินที่ผู้นั้นขับรถอยู่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือประชาชน ควรเลือกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมายเท่านั้น”

e-book-1-503x62-7