ต้าน พ.ร.บ.ยา! เอื้อทุนใหญ่ อุ้มสะดวกซื้อ

21 ต.ค. 2561 | 06:26 น.
211061-1317

เครือข่ายเภสัชกรรมเดินหน้าต้าน พ.ร.บ.ยา หลัง สธ. เล็งยื่น ครม. พิจารณา ยัน! เอื้อประโยชน์ร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ แนะหันหน้าพูดคุย สร้างความชัดเจน เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค เภสัชกร และร้านขายยา

กระแสต่อต้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีข่าวกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ทั้งจากชมรมเภสัชกรและเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภค ที่ต่างหวั่นวิตกว่า กฎหมายใหม่ฉบับใหม่นี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อร้านสะดวกซื้อ เปิดช่องทางหารายได้ให้กับนายทุนใหญ่

 

[caption id="attachment_335940" align="aligncenter" width="503"] ©qimono ©qimono[/caption]

โดย นายสุวิทย์ ธีรกุลชน นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควรพูดคุยและหาข้อตกลงร่วมกันก่อน ซึ่ง อย. ก็รับทราบเรื่องนี้ดีว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ในอดีต พ.ร.บ.ยา ฉบับปี 2510 มีร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมเภสัชกรรมฯ กำลังยกระดับในเรื่องนี้ให้เกิดการพัฒนาสร้างเภสัชกรให้มากขึ้น เพื่อเข้ามาดูแลการจ่ายยาให้กับผู้บริโภค แต่หาก พ.ร.บ.ใหม่ชุดนี้ ผ่าน ย่อมเปิดช่องว่างให้การพัฒนา หรือ สร้างเภสัชกร ยากขึ้นไปอีกลำดับ

ที่ผ่านมา มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ชุดนี้ ออกมาหลายรอบ แต่ยังมีหลายข้อที่ติดปัญหาและเป็นการเปิดช่องว่างให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันอยากให้มองปัญหาต่าง ๆ ให้รอบด้าน เนื่องจากมาตรฐานของเภสัชกรรมทั่วโลกมีการกำหนดมาตรฐานไว้อยู่แล้ว ว่า ยาประเภทใดผู้บริโภคสามารถซื้อได้ด้วยตัวเอง และยาประเภทใดต้องผ่านเภสัชกร และสิ่งสำคัญ อยากให้มองผู้บริโภค หากได้รับการจ่ายยาผิดหรือไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน

 

[caption id="attachment_335941" align="aligncenter" width="503"] ©Pexels ©Pexels[/caption]

"ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมรับทราบว่า อย. ประสบปัญหาด้านการเก็บค่าบริการ หรือ การใช้จ่าย มาต่อเนื่อง หากยื่นร่างกฎหมายนี้หลังการเลือกตั้ง เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว อาจส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรผ่านการประชุม หรือ ตกลงร่วมกัน จากหลาย ๆ ฝ่ายก่อน เพราะส่งผลเสียทั้งในด้านวิชาชีพของเภสัชกร ผู้บริโภค รวมถึงร้านขายยา พร้อมทั้งเปรียบเสมือนการเปิดช่องว่างให้กับนายทุน หรือ ร้านสะดวกซื้อ มากขึ้น"

ด้าน นายจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย (ภจท.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ จะเปิดช่องให้ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มิใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร หรือ ยาตามใบสั่งยา เกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดจำนวน นอกเหนือจากร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีอยู่เดิมราว 2,800 แห่ง ไม่สอดคล้องกับหลักสากล ที่มีร้านขายยาอยู่ประเภทเดียว คือ ร้านขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่มีผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บางวิชาชีพที่ไม่สามารถเปิดคลินิกให้บริการได้ ก็หันมาเปิดร้านขายยาแทน

 

[caption id="attachment_335927" align="aligncenter" width="312"] จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย (ภจท.) จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย (ภจท.)[/caption]

"วันนี้มีเภสัชกรกว่า 4 หมื่นคน ขณะที่ มีร้านขายยาทั้งหมดทั่วประเทศราว 1 หมื่นร้านค้า ดังนั้น ปัญหาเภสัชกรขาดแคลนจึงไม่เป็นความจริง มีเภสัชกรบางส่วนที่ยังตกงานอยู่ เพราะร้านขายยาไม่ต้องการจ่ายค่าตัว หรือ มีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงไม่จ้างเภสัชกรประจำร้าน"

สิ่งสำคัญเวลานี้ คือ ความชัดเจน เพราะ ภจท. เองก็ต้องการให้ร้านขายยาทั้ง 2,800 แห่ง มีที่ยืน แต่ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ว่า จะได้ยาที่ถูกต้องและมีคุณภาพ รวมถึงร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำที่ถูกต้องด้วย การออกกฎหมายมารองรับจึงต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนและรัดกุมพอ ไม่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการบางรายมาใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ต่อกรณีดังกล่าวส่งผลให้ร้านสะดวกซื้อดัง อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะนอกจากมีร้านขายยาเอ็กซ์ต้า ที่เปิดจำหน่ายยาแล้ว ล่าสุด เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เซเว่นฯ ยังได้จัดตั้งบริษัทใหม่ ในชื่อ "ออลล์ เวลเนส" เพื่อดำเนินธุรกิจดูแลสุขภาพให้กับชุมชนด้วย


sbp-1

ทั้งนี้ จากข้อมูลวิจัยกรุงศรีฯ ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมยา ระบุว่า ในปี 2559 ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.61 แสนล้านบาท โดยพบว่า 80% เป็นยอดขายในตลาดโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และอีก 20% เป็นยอดขายผ่านร้านขายยา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นแห่ง แบ่งเป็น ร้านขายยาเดี่ยวกว่า 80% และร้านขายยาที่มีสาขา หรือ เชน สโตร์ 20% ขณะที่ ผู้ประกอบการในตลาดยาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ องค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหาร และกลุ่มผู้ผลิตยาภาคเอกชน แบ่งเป็น กลุ่มบริษัทยาจากต่างประเทศมาเปิดสำนักงานขายในไทย และกลุ่มผู้ผลิตยาของไทย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ต.ค. 2561 หน้า 01+02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ชมรมเภสัชกรใต้-12 เครือข่ายวิชาชีพฯ" จี้ถอนร่าง "พ.ร.บ.ยา"
เปิดเวทีโต๊ะกลม! วิพากษ์ "ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ฉบับลับ ลวง พราง"


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว