เบื้องหลังความสำเร็จ แชมป์นาแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนบ้านอุ่มแสง

23 ต.ค. 2561 | 23:58 น.
สัมภาษณ์

จากการที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองของกระทรวงเกษตรฯแล้วจำนวนกว่า 4,000 แปลง พื้นที่รวมกว่า 5 ล้านไร่ เกษตรกรกว่า 3 แสนราย มีสินค้าเกษตรมากกว่า 70 ประเภท ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของเกษตรกรในการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กระทรวงเกษตรฯได้จัดการประกวดรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศขึ้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ นายบุญมี สุระโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าของรางวัลชนะเลิศนาแปลงใหญ่ระดับประเทศ ประจำปี 2561 ถึงเบื้องหลังความสำเร็จ จนนำมาสู่รางวัลชนะเลิศนาแปลงใหญ่ระดับประเทศ

lo05
เริ่มจากรวมกลุ่มลดต้นทุน

นายบุญมี กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรส่วนใหญ่ ในพื้นที่ เป็นการทำนาแบบการหว่านข้าวแห้ง มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชกันมากขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตแล้ว การใช้สารเคมียังเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งผู้ผลิตเองและผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรในหมู่บ้านอุ่มแสง จึงมีแนวความคิดที่จะช่วยกันลดต้นทุนด้านการผลิต และได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วยการลดรายจ่าย ลดต้นทุนการปลูกข้าวควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่เกษตร ด้านเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปข้าวและการสร้างกลุ่มเครือข่าย
มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้าน อุ่มแสง ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์จากถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ครบวงจร ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าอบรมกับหน่วยงานรัฐ การเปิดตลาด การสร้างตลาดใหม่ และช่วงชิงโอกาสทางการตลาดต่างๆ ทางกลุ่มไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเองเลย จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนระดับจังหวัดศรีสะเกษมาครองได้สำเร็จ แต่ทางกลุ่มยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่นานก็คว้ารางวัลชนะเลิศระดับเขต (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และยังคว้ารางวัลวิสาหกิจดีเด่นระดับประเทศด้วย
ขยายสู่เกษตรอินทรีย์

ด้วยความเข้มแข็งที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการขยายสมาชิกกลายเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวเกษตรอินทรีย์ครบวงจร โดยปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 1,258 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 20,716 ไร่ (ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 20,077 ไร่, ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 539 ไร่, ข้าวมะลินิล จำนวน 63 ไร่, ข้าวมะลิแดง จำนวน 37 ไร่) บนผืนดินทุ่งกุลาร้องไห้ มีคณะกรรมการกลาง เป็นผู้กำหนดทิศทางการผลิตและการจัดการตลาด และมีคณะกรรมการกลุ่มย่อยอีก 5 กลุ่ม นำแนวทางดังกล่าวไปวางแผนการผลิตในกลุ่มของตนเอง ซึ่งสมาชิกรายย่อยแต่ละกลุ่มจะมีการวางแผนร่วมกัน การผลิตตามชนิดพันธุ์และมาตรฐานการตรวจรับรองคุณภาพที่ตนเองได้รับ และคณะกรรมการกลุ่มจะรวบรวมผลผลิตของสมาชิกในการจัดจำหน่าย ให้แก่คณะกรรมการกลางกลุ่มแปลงใหญ่ ภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง” จะได้นำมาแปรรูปและจัดจำหน่ายในตราสินค้าชื่อ “ลุงบุญมี” ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ทั้ง IFAOM, EU, NOP, Fair Trade และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 80% มีการสั่งซื้อแบบpre-order กับตลาดยุโรปเป็นตลาดหลัก และอีก 20% เป็นการขายในประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป จมูกข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม ขนมที่ทำจากข้าวกล้องงอก

lo06
แปลงใหญ่รายได้เพิ่ม

จากการรวมกันผลิตในลักษณะแปลงใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านรายได้ที่ทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพจนได้มาตรฐานอินทรีย์รวมมูลค่า 48.7 ล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต หรือประมาณ 38,738 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ยังมีการใช้พื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำกิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การเพาะปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์หลังนา เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้เกิดการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และมีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง ทุกวันนี้เราพึ่งพาตนเองได้แล้ว ไม่ได้ฝากชีวิตไว้กับคนอื่นทำเองจัดการเองทุกอย่าง

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

บาร์ไลน์ฐาน