รถไฟฟ้า5จังหวัด 3.6 แสนล้านกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

20 ต.ค. 2561 | 14:45 น.
ลุ้นกันมานานแล้วคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 ก็ได้รับทราบคืบหน้ารถไฟฟ้า 5 จังหวัดในภูมิภาคคือ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก วงเงินรวมทั้งหมด 363,311 ล้านบาทอย่างเป็นทางการ

เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้ารางเบา TRAM) การจัดทำแผนจัดการจราจร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 แนวเส้นทางจากบ้านท่านุ่น จ.พังงา ถึงบริเวณห้าแยกฉลอง จ.ภูเก็ต ระยะทางรวม 58 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 39,406 ล้านบาท โดยการดำเนินงานระยะแรกจากสนามบินภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.70  กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 30,154 ล้านบาท

1

โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีแดง จำนวนสถานี 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 28,726 ล้านบาท สายสีนํ้าเงิน จำนวน 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 30,399 ล้านบาท และสายสีเขียว จำนวนสถานี 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 36,195 ล้านบาท รวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 95,321 ล้านบาท

3

โครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สนข. ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้า LRT ระบบหลัก มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว จำนวน 18 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท สายสีส้ม จำนวน 17 สถานี ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท สายสีม่วง จำนวน 9 สถานี ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านบาท รวมระยะทาง 28.12 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวมทั้งหมด 20 สถานี ระยะทางรวม 21.97 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง จำนวน 14,200 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 32,600 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น โดยที่ประชุมอนุญาตให้ จ.ขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ที่ สนข. ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ภายใต้กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) จำนวน 16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน  10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้านบาท

4 2

โครงการระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ มอบ ให้รฟม. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้ แผนระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 3,206 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2563-2564 และเปิดให้บริการในปี 2565 แผนระยะที่ 2 จํานวน 2 เส้นทาง รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางระยะที่ 1 รวม 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 911 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2572–2573 และเปิดให้บริการในปี 2574

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเสนอให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวน 15 สถานี ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท แนวเส้นทางจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-ศาลากลางจังหวัด-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว)-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่

หน้า 12หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859