"ธนาธร"ชูเศรษฐกิจรถไฟสู่อนาคตใหม่ไทย 

20 ต.ค. 2561 | 06:02 น.
“ธนาธร “ เสนอเศรษฐกิจรถไฟ  สร้างงาน-กระจายความเจริญ  พร้อมประกาศเซ็นสัญญาศึกษาไฮเปอร์ลูป 610315 (21)

วันที่ 18 ตุลาคม 2561 เวลา 20.00 น. พรรคอนาคตใหม่ จัดรายการ  "คืนวันศุกร์ให้ประชาชน"  เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party โดยมี นายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่   และ  นางสาวศิริกัญญา  ตันสกุล  ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่  ร่วมดำเนินรายการ

นายธนาธร ได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ เรื่อง เศรษฐกิจรถไฟ  ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้โดยจะต้องเร่งเปลี่ยนจากการยึดติด พึ่งพิงที่อยู่กับระบบถนน รถยนต์  ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งรถติด มลภาวะ และการนำเข้าพลังงานให้หันมาใช้ประโยชน์จากระบบรางแทน  หันมาเดินทางคมนาคม ด้วยรถไฟเป็นหลักแทนระบบถนน และการเร่งสร้างให้ระบบรางรถไฟ มีเส้นทางการคมนาคมที่ครอบคลุมโยงใยทั่วประเทศ  จนสามารถกลายเป็นการคมนาคมหลักของประเทศนั้น  ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างสรรค์ประเทศให้พัฒนาเจริญก้าวหน้าได้   ตามแนวทางวิสัยทัศน์  ไทย 2  เท่าของพรรคอนาคตใหม่ คนเท่าเทียมกัน ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการคมนาคมขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน จะทำให้เกิดอิสรภาพในการเดินทางมากยิ่งขึ้น  เพราะระบบโดยสารด้วยรถไฟ  ถือเป็นการคมนาคมที่มีราคาค่าโดยสารไม่แพง  ทุกคนสามารถจับต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน  แตกต่างจากระบบรถยนต์ที่มีแต่เพียงกลุ่มคนชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น จึงจะสามารถครอบครองรถยนต์เป็นของตนเองในการเดินทางได้

การพัฒนาระบบรถไฟยังจะทำให้ไทยเท่าทันโลก  เพราะประเทศที่เจริญแล้ว เกือบทุกประเทศในโลกนี้ เช่น  ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น  ที่ต่างก็ใช้  ระบบรางรถไฟ เป็นระบบการคมนาคมหลักของประเทศ  มีระบบรางที่เป็นเครือข่าย โยงใย ครอบคลุมทั่วประเทศ

" การมุ่งเน้นไปที่การตัดถนนมากมายในประเทศ  ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ คนต้องหันไปใช้รถส่วนตัวเกิดปริมาณรถมากมาย  สูญเสียงบประมาณในการสร้างและซ่อมถนนจำนวนมากปีละหลายหมื่นล้าน และยังก่อให้เกิดมลพิษ  ปัญหาสิ่งแวดล้อม  โลกร้อน  ตามมาด้วยอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนน นอกจากนี้ยังเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน  ไทยต้องนำเข้าพลังงาน  สูญเสียงบประมาณมากมาย  ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากของประเทศก็มีรายได้น้อยไม่สามารถมีเงินซื้อรถยนต์ส่วนตัวได้ทุกคน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม  ทั้งๆ ที่การคมนาคมเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนเข้าถึงโอกาสต่างๆ เข้าถึงงานต่างๆ ได้โดยง่าย

มันไม่ใช่แค่เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ  แต่มันเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน  เราจะต้องไม่เก็บค่าโดยสารแพง  ไม่ได้คิดถึงแต่เรื่องผลกำไร  แต่คิดถึงสิทธิ์ของประชาชนเป็นหลัก  ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและลดเวลาในการเดินทางลง "  นายธนาธร กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.  ศิริกัญญญา ตันสกุล  ได้กล่าวเสริมว่า

"มันจะไม่ใช่แค่การสร้างรถไฟ   แต่มันคือการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรม  พัฒนาเทคโนโลยี ทดแทนการนำเข้า  และยังทำให้เกิดการพัฒนาตัวพื้นที่  เศรษฐกิจท้องถิ่นจะสามารถเติบโตได้  การค้าขายก็จะง่ายขึ้น  จะเกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา  การท่องเที่ยวในท้องที่ต่างๆ  ก็จะพัฒนาได้ง่ายขึ้น  รถไฟจะเป็นการกระจายความเจริญออกไป จากที่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ก็จะกระจายไปอยู่ตามหัวเมือง ต่างจังหวัดมากขึ้น "

นายธนาธร ได้ย้ำให้เห็นว่า การส่งเสริมให้ระบบรางรถไฟ เป็นระบบคมนาคมหลักของประเทศ จะเป็นการตอบโจทย์ ในการสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องด้วย

"การส่งเสริมให้เกิอุตสาหกรรมผลิตรถไฟและระบบรางรถไฟ จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มในประเทศ เบื้องต้นได้ถึง 150,000  งาน  และสามารถสร้างรายได้ โดยประมาณถึง  540,000 ล้านบาท (ห้าแสนสี่หมื่นล้านบาท)  จะช่วยแก้ไขปัญหาการตกงาน  ประชาชนที่ต้องจากบ้านเกิด เดินทางไปทำงานต่างพื้นที่ได้ และเราจะต้องเร่งสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ให้สามารถรองรับการผลิตรถไฟได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการไปสร้างงาน ขนเงินไปให้ให้จีน  แต่ประชาชนคนไทยต้องได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่   เพราะที่จริงแล้ว  ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมรถไฟ ประเทศไทยสามารถผลิตและจัดการได้เองทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็น  ระบบการจัดจำหน่ายตั๋ว   การประกอบตัวถังรถไฟ  ระบบราง  สายส่งพลังงาน  หรือ  อาณัติสัญญาณ  ระบบช่วงล่าง

จะเห็นว่าการหันมาส่งเสริมให้ระบบรางรถไฟ เป็นระบบคมนาคมหลักของประเทศ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติได้มากมาย  และที่สำคัญ จะต้องมีการกระจายอำนาจ ผลักดันให้ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในระบบรถไฟ  ให้มากที่สุด เพราะท้องถิ่นย่อมรู้จักพื้นที่ตัวเองดีที่สุด "   นายธนาธรกล่าว

โดยย้ำว่าหากจะสร้างอุตสาหกรรมรถไฟ พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดคืออีสาน เพราะมีแรงงานมาก แรงงานจะได้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปหางานในกรุงเทพฯ หรือนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเพียงอย่างเดียว