‘ตู้บุญเติม’เนื้อหอม ‘ออมสิน-กรุงศรี’รุมจีบเป็นตัวแทน เล็งหาพันธมิตรเพิ่ม

23 ต.ค. 2561 | 05:46 น.
แบงกิ้ง เอเยนต์คึกคัก แบงก์แห่เจรจาตั้งเป็นตัวแทน “ออมสิน”ดอดคุย “ตู้บุญเติม” รับชำระค่างวดลูกค้า พร้อมขยายกองทุนหมู่บ้านฯ 1 หมื่นแห่งในปี 63 ด้านธ.ก.ส. ลั่นสิ้นมี.ค.62 ครบ 1,200 แห่ง ทั้งกองทุนหมู่บ้านฯ สถาบัน การเงินชุมชน “กสิกรไทย” ฟุ้ง ธุรกรรมการเงินโต 4 เท่า หลังตั้งสาขาปณท.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ"   ว่า ธนาคารกำลังเจรจากับบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือล่วงหน้า(พรีเพด) และบริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่านตู้บุญเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ในการเพิ่มจุดรับชำระค่างวดผ่านตู้เติมเงินบุญเติม ขณะเดียวกันทีมงานออมสินยังทยอยเจรจากับกองทุนหมู่บ้านฯที่ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชน  เพื่อแต่งตั้งเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองตลาด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อนุญาตให้ออมสินขยายแบงกิ้งเอเยนต์แล้ว

ชาติชาย พยุหนาวีชัย2

โดยปี 2562 ธนาคารจะเริ่มขยายตลาดกองทุนหมู่บ้านฯอย่างจริงจัง คาดว่าจะสามารถเจรจากองทุนหมู่บ้านฯเข้ามาเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ได้ 3,000-4,000 แห่ง ภายในสิ้นปีหน้าโดยรวมตั้งเป้าจะขยายแบงกิ้งเอเยนต์ในกลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ 10,000 แห่ง ภายในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ โดยแนวทางธนาคารจะเจรจากับกองทุนหมู่บ้านฯเป็นรายๆ ดังนั้นต้องขึ้นกับนโยบายของแต่ละกองทุนด้วย

“ตอนนี้เราได้รับอนุญาตจากธปท.แล้ว โดย 2 ปีข้างหน้าคือปี 2562-2563 จะทำตลาดอย่างจริงจัง นอกจากเจรจาเพิ่มจุดชำระเงินกับตู้บุญเติมแล้ว ยังอยู่ระหว่างคุยรายละเอียดกับไปรษณีย์ไทยด้วย ส่วนความร่วมมือกับบริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส หรือ เซเว่นอีเลฟเว่นนั้น เพิ่งเริ่มคุยกันได้เพียงเดือนเศษ ยังไม่เก็บตัวเลขประเมินผล ขณะที่กองทุนหมู่บ้านฯ นำร่องไปแล้ว 800 กองทุนหมู่บ้านฯภายในสิ้นปี 2563 คาดว่าจะขยายได้ประมาณ 1หมื่นแห่ง แต่ขึ้นกับนโยบายของผู้นำแต่ละกองทุนด้วย”

090861-1927-9-335x503

นายบรรจง เฉลียวเกรียงไกร รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างขออนุญาตกับธปท. เพื่อแต่งตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์ คาดว่าจะได้รับอนุญาตในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะสามารถขยายเครือข่ายไปหน่วยงานอื่น ทั้งธนาคารรัฐด้วยกัน ไปรษณีย์ไทยและอื่นๆ และจะเริ่มทดสอบขยายแบงกิ้ง เอเยนต์ 27 แห่ง ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อำนวยสินเชื่อ ถ่ายทอดความรู้ด้านการเงิน หรือจัดทำบัญชี,ที่ปรึกษาการเงินด้านครัวเรือนและโครงการภาครัฐ

ทั้งนี้หลักการของธ.ก.ส. ดำเนินงานแบงกิ้ง เอเยนต์ 2 รูปแบบคือ 1.ธุรกรรมทางการเงินมี 6 กิจกรรมคือ เงินฝาก ถอน โอน รับชำระหนี้เงินกู้รับชำระค่าบริการหรือเพย์เมนต์และจ่ายเงินกู้ทั่วไป ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากธปท. และส่วนที่ 2 คือ ธุรกรรมที่ไม่ใช่การเงินมี 4 กิจกรรมคือ อำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อ,ถ่ายทอดความรู้ด้านการเงินและจัดทำบัญชี,ที่ปรึกษาการเงินภาคครัวเรือนและนโยบายของรัฐ

โดยธุรกรรมที่ไม่ใช่การเงิน เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558-2560 มีเครือข่ายให้บริการ 9 แห่ง 27 แห่ง และ 900 แห่งตามลำดับ ซึ่งในภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2562 ตั้งเป้าขยายเป็น 1,200 แห่ง โดยเครือข่ายที่ให้บริการคือ สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้านฯ วิสาหกิจชุมชนเป็นต้น นอกจากนั้นยังเปิดให้ร้าน A-Shop ขึ้นทะเบียนกับธ.ก.ส. เพื่อรับชำระค่าอุปกรณ์การเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ถือบัตรสุขใจวงเงิน 5 หมื่นบาทต่อบัตร โดยตั้งเป้าขึ้นทะเบียน 2,200 แห่งทั่วประเทศ

MP24-3411-A

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารกำลังพูดคุยเพื่อขยายความร่วมมือเป็นแบงกิ้ง เอเยนต์อีกหลายราย หลังร่วมมือกับบุญเติมเป็นตัวแทนให้บริการแบงกิ้งเอเยนต์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ปริมาณธุรกรรมเติบโตค่อนข้างสูง มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และคาดว่ายอดธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้ามีความสะดวกสบายในการใช้บริการ

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขธุรกรรมการเงินผ่านไปรษณีย์ไทยที่เป็นตัวแทนแบงกิ้งเอเย่นต์ให้ธนาคาร ขณะนี้พบว่า ยอดเติบโตเกินคาด โดยอัตราขยายตัวมากกว่า 4 เท่าของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าใช้บริการกว่า 1.5 แสนธุรกรรม และตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนธุรกรรม ส่วนการขยายขอบเขตพันธมิตรรายอื่น อยู่ระหว่างพูดคุย ซึ่งต้องขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่ายด้วย

ด้านบมจ.ธนาคารธนชาตกล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลการใช้แบงกิ้งเอเยนต์ แต่ก็มองว่า สาขาที่มีกว่า 500 สาขา เหมาะสมกับจำนวนลูกค้าและครอบคลุมการให้บริการ ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย ซึ่งการใช้แบงกิ้งเอเยนต์เหมาะกับลูกค้าที่ลงระดับลึกๆ หรืออยู่ห่างไกล ซึ่งธนาคารไม่ได้มีลูกค้ากลุ่มนั้น

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859