คำต่อคำจากบิ๊กทุนจีน “ซิน เคอ หยวน” “ขายเหล็กถูกเพราะบริหารจัดการต้นทุนรวมได้ถูก”

19 ต.ค. 2561 | 23:48 น.
 

หลังจากที่คอลัมน์ “Let Me Think” ออกมาเผยแพร่ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมเหล็กเส้นของกลุ่มทุนจีน ที่เข้ามาปักฐานในไทยเพียงไม่กี่ปี ก็สามารถแซงหน้าบรรดาผู้ผลิตเหล็กเส้นขาประจำที่อยู่ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้วด้วยผลกำไรที่เหนือกว่า

อีกทั้งเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของกรรมวิธีการผลิตเหล็กเส้น 2 แบบ ด้วยการลงทุนและต้นทุนที่แตกต่างกัน  เริ่มจากโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ Induction FurnaceหรือIF  มีผู้ผลิตรวมในประเทศทั้งทุนไทย ทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีนรวมแล้วกว่า 10 ราย  ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวนี้ ก่อนหน้านี้ทางการจีนออกมาประกาศ ยกเลิกการผลิตเหล็กด้วยระบบIF ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกก็ทยอยเลิกผลิตด้วย เพราะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นภายในประเทศ

เหล็ก3

ขณะที่กรรมวิธีหลอมด้วยเตาชนิดอาร์กไฟฟ้า(Electric Arc Furnace)หรือ EAF ซึ่งเป็นระบบที่ได้คุณภาพเหล็กที่สม่ำเสมอกว่าและลดปัญหาด้านมลพิษ ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย  และต้องลงทุนสูงและกำลังตกอยู่ในภาวะที่แข่งขันยากขึ้นด้วยเหตุผลทางราคาที่สู้คู่แข่งที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตแบบIFไม่ได้และยังมีต้นทุนรวมในการผลิตที่สูงกว่าอีกด้วย

เหล็ก2

-ปล่อยข้อมูลว่อนโซเชียล

จากการเคลื่อนไหวในเชิงข่าวที่ผ่านมาทำให้วงการผลิตเหล็กกลุ่มผู้ผลิตด้วยระบบIFถึงกับนั่งไม่ติด   ออกมาใช้ช่องทางโซเชียล ปล่อยคลิประบุถึงกรรมวิธีการผลิตเหล็กเส้นด้วยระบบดังกล่าว พร้อมทั้งยกข้อมูลที่นักวิชาการบางท่านออกมายืนยันถึงผลการตรวจสอบเหล็กข้ออ้อยจากเหล็กแท่งที่ได้จากการหลอมด้วยเตาอินดักชันหรือIF ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมอก.เป็นต้น

ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นด้วยกรรมวิธี EAF และกลุ่มผู้ใช้ต่อเนื่อง ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ปล่อยออกมาทางโซเชียลบางส่วนเป็นรายงานของปี 2015 ไม่ใช่ปี 2018 โดยเฉพาะคลิปที่รายงานค่าเคมี พร้อมกับตั้งคำถามว่า ถ้าทำได้ตามมาตรฐานจริง คุณภาพในเนื้อเหล็กมีความสม่ำเสมอจริง แล้วทำไมล่าสุดถึงออกมาเสนอสมอ. เพื่อขอแก้มาตรฐานใหม่โดยเฉพาะ ขอไม่ปั๊มตัวนูนที่เนื้อเหล็ก และขอกำหนดค่าโบรอนและค่ากำหนดแมงกานีสใหม่ซึ่งเป็นการกำหนดค่าทางเคมี

เหล็ก 1

ด้านกลุ่มผู้ใช้เหล็กบางส่วนก็ออกมาตั้งคำถามว่าเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยระบบIFนั้นเชื่อว่ามีบางรายที่ทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเนื่องจากเวลานำเหล็กไปตรวจมาตรฐานมอก. เป็นการสุ่มตรวจ ไม่ใช่นำเหล็กไปตรวจทั้งโรงงาน  หรือบางรายเมื่อรู้ว่าจะมีการตรวจมาตรฐานมอก.ก็จะเตรียมการไว้ล่วงหน้าทำให้เคราะห์กรรมไปตกที่ผู้บริโภคปลายทาง

ขณะที่อีกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้จำหน่ายเหล็กทั้งในรูปซื้อจากโรงงานเหล็กเส้นในประเทศไปขายและนำเข้ามาขาย ก็มองว่าในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มีแต่โรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ IF  ทั้งนั้นถ้าเลิกผลิตก็ต้องหันไปนำเข้ามาขายแทน  โดยให้เหตุผลว่าลำพังผู้ผลิตเหล็กเส้นด้วยกรรมวิธีEAFที่มีเพียงไม่กี่รายก็ไม่เพียงพอ

-ผู้ผลิตในประเทศยังใช้กำลังผลิตต่ำ

จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้เหล็กเส้นราว 3-4 ล้านตันต่อปี มีกำลังผลิตรวมราว 9 ล้านตันต่อปี และเมื่อรวมเหล็กทุกชนิดในประเทศทั้งเหล็กทรงกลม เช่น เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อยและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรูปทรงต่างๆ และเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี ฯลฯ มีความต้องการใช้โดยรวมที่ราว 17-18 ล้านตันต่อปี  แต่ในทุกผลิตภัณฑ์จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำประมาณ 30 - 60% ของกำลังการผลิตที่มี  ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

-เปิดตัว”ซิน เคอ หยวน

ต่อเรื่องนี้ล่าสุดบิ๊กทุนจีนนามว่า “ซิน เคอ หยวน” หรือบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล (ไทยสตีล) จำกัด  เป็นกลุ่มทุนที่มาจากเมืองเสินเจิ้นประเทศจีน ผู้ผลิตเหล็กเส้นด้วยระบบIF ส่งตัวแทนหนึ่งในผู้บริหารที่คนในวงการเหล็กเรียกขานว่า “เสี่ยเล็ก” หรือ นายชลิตพันธ์ รวีรัตนานนท์ รองผู้จัดการและผู้ถือหุ้น บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล (ไทยสตีล) จำกัด ออกมาชี้แจงผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ชนิดคำต่อคำเป็นครั้งแรก

[caption id="attachment_335565" align="aligncenter" width="503"] ชลิตพันธ์ รวีรัตนานนท์ ชลิตพันธ์ รวีรัตนานนท์[/caption]

 

 

Q:ตอบรับตามนัดมาคุยวันนี้เพราะอะไร

A: อยากจะออกมาชี้แจ้งว่าเหล็กเส้นที่เรา(ซิน เคอ หยวน)ผลิตนั้นเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานมอก. โดยตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง ต้องการออกมายืนยันว่า เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน  และอยากให้มองว่าเตาที่ผลิตเหล็กเส้นจะเป็นเตาอะไรก็ได้ มาจากระบบIF  หรือระบบ EAF ก็จะได้เหล็กออกมาเหมือนกัน  แต่มันขึ้นอยู่ที่ว่าสินค้าที่ผลิตออกมานั้น ปรุงได้มาตรฐานหรือเปล่า  และได้มอก.ตรงตามสเปกที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ตั้งไว้หรือไม่  และการกำหนดมาตรฐานมอก.ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมิถุนายนนั้นที่ระบุไว้ โดยกำหนดค่าเคมีที่เปลี่ยนไป ลงรายละเอียดของค่าเคมีละเอียดกว่าเดิมโดยที่กลุ่มผู้ผลิตจากเตาอาร์กไฟฟ้าหรือเตาEAFเป็นคนกำหนดเพื่อไปใช้มอก.ใหม่  เพราะไปคิดว่าเตาIF ทำไม่ได้  แต่บังเอิญว่าเตาIF มีหลายประเภท  และเตาของซิน เคอ หยวน ก็เป็นเตาIFที่เป็นรุ่นใหม่ทำได้ตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้

“เรื่องนี้ผมอยากเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพว่า เมื่อก่อนเราหุงข้าวด้วยเตาถ่าน  ต่อมาใช้เตาแก๊ส  แต่ได้ข้าวออกมาเหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่คุณภาพข้าว เหมือนการปรุงเหล็กของแต่ละบริษัทว่าทำได้ตรงตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้หรือไม่”

Q:ได้ข้าวคุณภาพดีหรือเปล่า

A: มันต้องดีซิครับ!  ถ้าไม่ดีมันจะได้มาตรฐานได้อย่างไร เหมือนเหล็กเส้นที่ผู้บริโภคซื้อจากเราไป  เพราะเราลงทุนในประเทศไทย ใช้เตารุ่นใหม่  ไม่ได้ใช้เตาIF ที่ถูกโละทิ้งมา  หรือเป็นเตามือ2   โดยเรามีกำลังการผลิตเหล็กเส้นอย่างเดียวราว 10,000-20,000 ตันต่อเดือนบวกลบ

Q:ข่าวระบุทุนจีนเอาเตามือ2 ที่โละทิ้งมาใช้

A:อันนั้นผมไม่รู้  ผมรู้เพียงว่าเราใช้เตาIF ที่ใหม่ เข้ามาผลิตในไทย

Q:ซิน เคอ หยวน มีสัดส่วนขายอย่างไร

A:ปัจจุบันการส่งออกของเราจะยืดหยุ่นไปตามราคา ต้องดูว่าราคาในประเทศไทยหรือในต่างประเทศดีกว่า ที่ไหนราคาดีขายที่นั่น โดยเฉลี่ยแล้วจะส่งออกราว20-30% ไปจีน กัมพูชา และสปป.ลาว  และขายในประเทศ 70-80% โดยที่สัดส่วนขายจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ราคาในขณะนั้น

16-ตุลาคม 2.indd

Q:มีผลกำไรดีกว่ากลุ่มทาทาสตีลจริงหรือไม่

A: ที่มองว่าผลกำไรเราดี  อาจเป็นเพราะเรามีการบริหารจัดการต้นทุนรวมออกมาดีกว่า   และต้นทุน2ระบบดังกล่าวก็ไม่ได้ต่างกันมาก มันขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการของแต่ละองค์กร ที่เราทำได้ด้วยต้นทุนต่ำเพราะผู้ร่วมทุนจีนหรือหุ้นส่วนสำคัญใส่ใจกับการบริหารจัดการจนสามารถลดต้นทุนได้ดี

“ทุกวันนี้ทุนจีนที่ร่วมทุนกัน นุ่งกางเกงขาสั้นมาทำงาน ตอนกลางคืนเดินตรวจงานในโรงงานเอง ตรวจดูทุกตารางนิ้ว มีความตั้งใจในการเดินธุรกิจนี้ เพราะเรายังมีพนักงานราว 300 คน ดำเนินกิจการผลิตเหล็กเส้นอยู่ในพื้นที่ขนาด 80-100ไร่ที่ต้องดูแล”

Q:ซิน เคอ หยวน ขายเหล็กราคาถูกกว่าคนอื่น

A:แน่นอนครับ! เราต้องขายถูกกว่าเพราะต้นทุนรวมเราบริหารจัดการได้ถูก ดังนั้นผู้บริโภคก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย ขายได้ถูกกว่าคู่แข่งทั่วไปราว20-30 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากที่ราคาเหล็กเส้นวันนี้ยืนอยู่ที่ 18,000-19,000บาทต่อตัน ราคาจะขึ้นอยู่ที่ค่าขนส่งระยะทางใกล้-ไกลด้วย

“ผมก็อยากจะขายแพง  แต่ถ้าแพงไปคนก็ไม่ซื้อ    เราขายถูกได้ก็อยากคืนกำไรให้ผู้บริโภค”

 

Q:ที่จีนเลิกเหล็กด้วยกรรมวิธีIFทำไมยังมาผลิตในไทย

A:  อย่ามาถามผมตรงนี้  แต่โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจีนไม่ผลิตแล้ว และผมมั่นใจว่าในจีนยังมีการผลิตด้วยระบบIF อยู่  เพราะว่าเตา EAF   มีต้นทุนสูง  และปัจจุบันระบบIF จีนก็มีการพัฒนารุ่นใหม่ๆออกมา

Q:ถ้าคุณภาพดีจริงทำไมขอปรับมาตรฐานอีก

A:เรื่องนี้ผมไม่ทราบจริงๆ  และวันนี้ที่ผมออกมาชี้แจงก็อยากจะบอกว่าในส่วนของซิน เคอ หยวนได้รับมาตรฐานมอก.อย่างถูกต้อง

Q:มีอดีตบิ๊กข้าราชการเป็นแบ็กอัพ

A:ตรงนี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่

เหล็ก8

Q:จริงมั้ยที่พูดกันว่าเหล็กจีนไม่มีคุณภาพ

A:ต้องดูว่าเป็นเหล็กอะไร  เหล็กมีหลายชนิด  แต่ซิน เคอ หยวน ผลิตเหล็กเส้นซึ่งในประเทศไทยมีการนำเข้าน้อยมาก  และถ้ามองเป็นภาพรวมเหล็กทุกชนิดของคนอื่นผมไม่รู้แต่เหล็กเส้นจากซิน เคอ หยวน ได้รับมาตรฐานมอก.และลูกค้าชอบ เพราะราคาไม่แพง  ถ้าเหล็กผมคุณภาพไม่ดีไม่ได้มาตรฐานผมรับคืน ผมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งให้ ผมพูดแบบนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในสินค้าของเรา  และใครๆก็ชอบสินค้าถูกและดีกันทั้งนั้น

-ทำไมเลือกมาลงทุนในไทย

ตามความคิดส่วนตัวผม  มองว่าเมืองไทยน่าลงทุน ภาพรวมเศรษฐกิจดี ระบบโครงสร้างพื้นฐานมีการขยายตัว  ถ้ามาลงทุนในประเทศไทยก็น่าจะคุ้มทุน

e-book-1-503x62-7