TPBI ปั๊มยอดขายปีหน้าโต25%

22 ต.ค. 2561 | 00:42 น.
สัมภาษณ์

 

รุกบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Flexible Packaging -ถุงขยะ  
TPBI  ตั้งเป้ายอดขายปีหน้าโต 25% รุกธุรกิจถุงขยะ-บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน เผยอยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าเพิ่มอีกรายออร์เดอร์พันล้านบาท หลังรายแรกเริ่มส่งออกมีนาคมปีหน้าเผยศักยภาพความพร้อมจากการขยายโรงงาน การเข้าเทกกิจการ 3 บริษัทในอังกฤษรองรับขยายฐานผลิตเพิ่ม ขณะที่ยอดขายปีนี้คาดโตทรงตัวเหตุผลกระทบบาทแข็งค่า ความต้องการใช้ถุงพลาสติกลด

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมรายได้ของบริษัทในปีนี้ คาดจะทรงตัวกับปีที่แล้วที่อยู่ที่ 4,784 ล้านบาท  จากผลกระทบ 3 ด้านคือ กระแสความต้องการใช้ถุงพลาสติกลดลงขณะเดียวกันบริษัทอยู่ในระหว่างการ Transformation ปรับเปลี่ยนไปยังผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน   อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% จากระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ มาต้นปีอยู่ที่กว่า 31 บาท กระทบอย่างมากเพราะบริษัทมีสัดส่วนส่งออกถึง 80% ที่เหลือ 20% เป็นในประเทศ

[caption id="attachment_335445" align="aligncenter" width="335"] สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล[/caption]

อย่างไรก็ตามแนวโน้มยอดขายในปีหน้าจะดีขึ้นจะเริ่มเห็นชัดตั้งแต่ไตรมาส 2/2562   จากหลายโปรเจ็กต์ที่บริษัททำรวมกัน ทั้งการลงทุน 500 ล้านบาท  เปิดโรงงานขยาย Flexible Packaging  หนุนกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มอีก 55 ล้านเมตรต่อปี จากเดิมที่มี 100 ล้านเมตรต่อปี และตามแผนภายใน 2-3 ปีจะเพิ่มเป็น 200 ล้านเมตรต่อปีหรือเท่าตัว

ล่าสุดที่บริษัทใช้งบกว่า 600 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท Intelipac Paper Manufacturing Ltd  (IPM) และ บริษัท Intelipac Limited (ITP) ในประเทศอังกฤษ และหุ้นสามัญ 25% ของ บริษัท Intelipac Australia PTY Limited  (ITPA) ประเทศออสเตรเลีย (ปัจจุบัน ITP ถือหุ้นใน ITPA 75%) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ TPBI ในการขยายสู่บรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ

“บริษัท IPM ที่อังกฤษ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เบเกอรี่ และห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษ ส่วน ITP ทำด้านเทรดเดอร์ คือซื้อมาขายไปในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ถุงประเภทใช้ซํ้า  เช่นเดียวกับ ITPA ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไปในผลิตภัณฑ์พลาสติก ถุงใช้ซํ้า มีสาขาที่ออสเตรเลีย ก็จะช่วยดูลูกค้าที่ออสเตรเลีย  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตถุงใช้ซํ้า” นายสมศักดิ์ กล่าว

ประมาณการว่าทั้ง 3 บริษัทที่ TPBI เข้าซื้อกิจการในอีก 3 ปีหรือภายในปี 2564 จะช่วยเพิ่มยอดขายเป็น 2 พันล้านบาท  จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ดังนั้นอย่างไรปีหน้ายอดขายก็ต้องโตขึ้น  ประมาณ 6 พันล้านบาท หรือเพิ่มจากยอดขายในปีนี้  20-25%  โดยปีหน้าบริษัทวางแผนจะขยายถุงขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีลูกค้ารายใหญ่ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยจะเริ่มส่งออกในเดือนมีนาคม 2562 จะรับรู้รายได้ในปีหน้า 750 ล้านบาท ส่วนอีกรายอยู่ระหว่างเจรจา มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ยอดออร์เดอร์อยู่ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี เฉพาะ 2 รายนี้ สร้างรายได้ต่อปีประมาณ 2 พันล้านบาท MP18-3411-A

“แนวโน้มบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงพาสติกหูหิ้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีโอกาสลดลง ส่วนที่จะมาแทนก็คือถุงขยะ จึงเป็นโอกาสที่ถุงขยะจะเติบโตขึ้น  ตรงนี้ในปีหน้าบริษัท ได้เตรียมการเพื่อรองรับตลาดส่งออกเป็นหลัก  ส่วนถุงหูหิ้วที่ใช้น้อยลงก็จะปรับเปลี่ยนเป็นถุงที่ใช้ซํ้ามีความหนาขึ้น เดิมถุงหิ้วเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของรายได้รวม แต่ ณ เวลานี้เหลือประมาณ 20% อย่างไรก็ดีในกลุ่มธุรกิจ General Packaging (ถุงหูหิ้วและถุงขยะ) บริษัทจะรักษาสัดส่วนที่ 40% เพียงแต่จะเปลี่ยนจากถุงหูหิ้วมาเป็นถุงขยะที่ใช้ซํ้า และถุงขยะรูปแบบใหม่มากขึ้น

ส่วนที่มาแทนที่ใหม่ ได้แก่  บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนสําหรับสินค้าบริโภคและอุปโภค (Flexible Packaging) และฟิล์ม(Multilayer Blown Film) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เดิมมีสัดส่วน 20% แต่จากการลงทุน500 ล้านบาทขยายโรงงานเพิ่ม ในอนาคตสัดส่วน Flexible Packaging และ Multilayer Blown Film รวมกันจะเพิ่มเป็น 40% จากปัจจุบันที่เกิน 20% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นธุรกิจเม็ดพลาสติกคอมพาวด์จากการรีไซเคิล ขายในประเทศและส่งออก”

นายสมศักดิ์ กล่าวถึง ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนว่า สำหรับบริษัทแล้วถือเป็นผลกระทบในเชิงบวก จากข้อดีที่บริษัทไม่ได้ติดบ่วงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) และเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่สามารถส่งเข้าสินค้าไปอเมริกาโดยไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นลูกค้าจึงสั่งซื้อที่ไทยจึงเซฟจากการเสีย ภาษี  บริษัทจึงได้เตรียมแผนงานแต่เนิ่นๆ เพื่อรองรับลูกค้าจากกรณีนี้อยู่แล้ว

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,411 วันที่ 21-24 ตุลาคม 2561 595959859