เอกชนหวั่นยอดโอนวูบ 2 หมื่นหน่วย! วอนรัฐลดภาษี แลกแบงก์ชาติคุมเข้ม

21 ต.ค. 2561 | 02:06 น.
ตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยครึ่งปี 61 เติบโตทั้งจำนวนหน่วย-มูลค่าตลาด ขายจริง-โอนจริง ไม่หวั่นเกิดฟองสบู่ ห่วงมาตรการแบงก์ชาติ ส่อฉุดตลาด

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานกรรมการ โครงการบ้านจัดสรรเดอะพรอมิเน้นซ์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า "โครงการบ้านจัดสรรเดอะพรอมิเน้นซ์" เป็นโครงการบ้านจัดสรรในระดับราคาตั้งแต่ 4-10 ล้านบาท จากมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาคุมสินเชื่อ มีผลกระทบต่อการขายโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมดเลย เพราะทำให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินมากขึ้น ทำให้การขายช้าลงมาก จากเดิมสถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ปีนี้ไม่ดีเลย บ้านขายช้าลง ชะลอตัวอยู่แล้ว แต่ยังดีที่มีกำลังซื้อจากจีนเข้ามาช่วย ถ้าไม่มีจีนมาช่วยจะหนักมากกว่านี้ กำลังซื้อจะน้อยลงไปอีก ดังนั้น มีผลกระทบแน่นอน ทำให้การขายยิ่งช้าลงไปอีก ส่วนทางออกของผู้ประกอบการ ต้องการมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ลดภาษีการโอนต่าง ๆ จะเร่งให้การขายดีขึ้น ลูกค้าจะแห่จองกันเยอะกว่านี้ ผู้ประกอบการต้องการ คือ ช่วยเหลือภาษีการโอน ลดภาษีการโอน มาตรการนี้เป็นมาตรการทางบวก


ตึก

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์ 2 ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหา
ริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยถึงภาวะตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2561 ต่อเนื่องปี 2562 ว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของทั้งประเทศในช่วงครึ่งปีแรก มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 26% ในแง่ของจำนวนหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เช่นเดียวกับมูลค่าการโอนรวมทั้งหมด เติบโตขึ้นถึง 30% ขณะที่ ตลาดหลักอย่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลนั้น ตลาดขยายตัวอย่างมาก มีหน่วยการโอนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 33% และมีมูลค่าเติบโตอยู่ที่ 39.9% ส่วนตลาดต่างจังหวัด พบเริ่มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต เริ่มมีตัวเลขไต่ขึ้นมาใกล้เคียงหรือเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งตัวเลขทั้งหมดสามารถใช้การันตีได้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวอย่างมาก และที่สำคัญ คือ มีการขายและการโอนเกิดขึ้นจริง ไม่ได้ร้อนแรงแค่ยอดขายและไม่มีการโอนตามมาอย่างที่บางฝ่ายกังวล

พร้อมมองว่า ภาวะตลาดจะมีการเติบโตเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีและข้ามไปยังปี 2562 หากไม่มีปัจจัยอื่นใดมากระทบ แต่อย่างไรก็ตาม ในทุก ๆ ปี ตลาดที่อยู่อาศัยมักต้องเผชิญกับทั้งโอกาสและความเสี่ยงอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องเสมอ เช่นเดียวกับที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณาออกมาตรการมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามในช่วงเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งจะเน้นเข้มงวดกับกลุ่มบ้านหลังที่ 2 และบ้านราคาแพง โดยตนเองมองว่า จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลให้จำนวนหน่วยในตลาดหายไปถึงประมาณ 5% และกระทบมูลค่ารวมของตลาดประมาณ 4% ซึ่งหาก ธปท. ยังคงหลักการและเงื่อนไขเวลาตามเดิม แม้ผู้ประกอบการได้สะท้อนผลกระทบไปแล้ว ก็คาดว่าจะทำให้หน่วยที่จะมีการโอนต่อเนื่องปี 2561-2562 หายไปประมาณ 2-3 หมื่นหน่วย เพราะการควบคุมบ้านหลังที่ 2 ที่ขณะนี้กลายเป็นพฤติกรรมหลักของผู้ซื้อคนเมืองไปแล้วนั้น ทำให้ยอดขายลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ปรับตัวเปิดโครงการใหม่น้อยลง

"ในแต่ละปี แค่ในตลาดกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบจะมีหน่วยเปิดขายอยู่ในตลาดทั้งสิ้น 1.9 หมื่น ถึง 2 แสนหน่วย แบ่งเป็น หน่วยเปิดใหม่เฉลี่ย 4-5 หมื่นหน่วย แต่ปีนี้ตลาดดีมาก อาจสูงถึง 6-7 หมื่นหน่วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีมาตรการของแบงก์ชาติออกมา ในกรณีที่เลวร้ายสุด ผู้ประกอบการคงพิจารณาในการเปิดโครงการใหม่ออกไป ตัวเลขดูดซับเดิมของแต่ละทำเลอาจใช้อ้างอิงไม่ได้เหมือนเก่า สิ่งที่น่ากังวล คือ อาจทำให้หน่วยเปิดใหม่หายจากตลาด 2 หมื่นหน่วย เหลือประมาณการแค่ไม่เกิน 4.6 หมื่นหน่วยเท่านั้น ซึ่งจะฉุดการเติบโตของตลาดแน่นอน"


หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,411 วันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

595959859