บิ๊กไบค์หรูแตกไลน์ใหม่ BMWเล็งสกูตเตอร์เล็ก-‘ไทรอัมพ์’จับสายแอดเวนเจอร์

22 ต.ค. 2561 | 01:06 น.
สังเวียนบิ๊กไบค์ระดับพรีเมียมแข่งเดือด “บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด”เตรียมส่งโมเดลเชนจ์ 2 รุ่น พร้อมศึกษาตลาดสกูตเตอร์เครื่องเล็ก ด้านไทรอัมพ์ เล็งขยายฐานลูกค้ากลุ่มแอดเวนเจอร์ หลังบริษัทแม่เลือกเปิดโกลบัลโมเดลสแครมเบลอร์ 1200 ที่ประเทศอังกฤษ

ตลาดบิ๊กไบค์ในกลุ่มพรีเมียมแบรนด์ที่มี บีเอ็มดับเบิลยู, ดูคาติ, ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน และไทรอัมพ์ ถือเป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหวกันอย่างมากในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพสนาม 15 ของโมโตจีพีที่ช่วยกระตุ้น และปัจจัยหลักคือการปรับกลยุทธ์ของแต่ละค่ายที่ไม่มีใครยอมใคร แต่ที่เดือดและฮือฮาสุดก็ตั้งแต่ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ได้ฤกษ์คลอดโมเดลจากโรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ราคาขายลดลง สร้างแรงกระเพื่อมไปยังแบรนด์อื่นๆ

ล่าสุดค่ายบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย ก็ร่อนหนังสือเชิญสื่อมวลชนร่วมเปิดตัวรถจักรยานยนต์ 2 รุ่นใหม่ กลุ่มแอดเวนเจอร์ ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ซึ่งรถทั้ง 2 รุ่นมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ฟังก์ชันต่างๆ ให้ทันสมัย ถือเป็นการปรับแบบโมเดลเชนจ์ ที่จะตอกยํ้าให้เห็นถึงเทคโนโลยี ระบบความปลอดภัย การขับขี่ที่สะดวกสบาย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของบีเอ็มดับเบิลยู โดยคาดว่าจะเปิดตัวให้ลูกค้าได้เห็นหรือว่าจองได้ในช่วงปลายปีในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป

MP32-3411-A

ด้านแหล่งข่าวจากตัวแทนจำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด กล่าวว่า“เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาของฮาร์ลีย์-เดวิดสันนั้นสร้างผลกระทบกับเราด้วย และส่งให้ภาพการแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดขึ้น ซึ่งการปรับตัวของเราในตอนนี้คือการเปิดผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ รวมไปถึงมองหาเซ็กเมนต์ใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทแม่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัวกลุ่มสกูตเตอร์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีผู้เล่นสัญชาติญี่ปุ่นครองตลาดอยู่”

ขณะที่ค่ายผู้นำตลาดนี้อย่างไทรอัมพ์ ก็เตรียมไฮไลต์เด็ดของปี ด้วยการยกพลไปประเทศอังกฤษเพื่อเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในกลุ่มแอดเวนเจอร์ ในรุ่นสแครมเบลอร์ 1200 ซีซี

นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการขายรถของไทรอัมพ์ แบ่งเป็น กลุ่มโมเดิร์นคลาสสิก(Modern Classic) 90%, แอดเวนเจอร์ และทัวริง (Adventure & Touring) 5% และเนกเกด โรดสเตอร์ (Naked Roadster) 5% ซึ่งเป้าหมายในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มแอดเวนเจอร์ และโรดสเตอร์ ให้ขยับมาเป็น 7%

“เดิมทีไทรอัมพ์มีโมเดลในรุ่น 900 ซีซี ราคา 4.79 แสนบาท และตัวใหม่ที่เปิดตัวจะมีซีซีที่เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการขี่ทั้งในเมือง หรือจะขี่แบบลุยก็ได้ ซึ่งเรามั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่สิ่งสำคัญที่ไทรอัมพ์ต้องเติมเต็มในเซ็กเมนต์นี้คือการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นได้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นอย่างไร”

สำหรับสแครมเบลอร์ 1200 ซีซี จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ของไทรอัมพ์ ส่วนตลาดในไทยยังไม่กำหนดช่วงเวลา รวมไปถึงราคา และรายละเอียดในส่วนของโรงงานที่จะใช้ผลิตโมเดลใหม่นี้

090861-1927-9-335x503-8-335x503

อย่างไรก็ดีไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ มีฐานการผลิตรถ 2 แห่ง ได้แก่ เมืองฮิงค์ลีย์ ประเทศอังกฤษ และที่นิคมฯอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย กำลังการผลิตราว 60,000 คันต่อปี ซึ่งโรงงานที่ประเทศ ไทยผลิตรถ 3 กลุ่ม ได้แก่โมเดิร์นคลาสสิก 10 รุ่น, แอดเวนเจอร์แอนด์ทัวริ่ง ในรุ่น ไทเกอร์ 800 และเนกเกดโรดสเตอร์ ได้แก่สตรีต ทริปเปิล อาร์เอส ซึ่งกำลังการ ผลิตของไทรอัมพ์กว่า 70% ที่จำหน่ายทั้งในประเทศ ไทยและทั่วโลกได้ถูกผลิตขึ้น ณ โรงงานไทรอัมพ์ ในประเทศไทย

นายจักรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การตลาดนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทมีแผนที่จะขยาย
เครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการเพิ่มอีก 1 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา จากปัจจุบันที่มี 14 แห่ง และภายใน 3 ปีจะมีการเพิ่มหน่วยธุรกิจมือ 2 รวมไปถึงมีการพัฒนาระบบซีอาร์เอ็ม และสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ และกำลังศึกษาเกี่ยวกับการทำโมบายแอพพลิเคชัน

“การแข่งขันของตลาดบิ๊กไบค์ในกลุ่มพรีเมียมแบรนด์ในช่วงปลายปีน่าจะมีความคึกคักมากขึ้น เพราะมีรถรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัว รวมไปถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่แต่ละค่ายจะส่งออกมา ซึ่งไทรอัมพ์มั่นใจว่าจากนโยบายทางการตลาดที่ได้วางไว้ จะทำให้เรายังคงรักษาเบอร์ 1 ได้และจะมียอดขาย 2,800-3,000 คัน เติบโตจากปีก่อนหน้า ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาด 9 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 44 % เทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา หรือเมื่อดูจากยอดขาย 9 เดือนอยู่ที่ 1,927 คัน”

ปัจจุบันภาพรวมตลาดบิ๊กไบค์ในกลุ่มพรีเมียมแบรนด์มีตัวเลขจดทะเบียน 9 เดือน(มกราคม-กันยายน) เฉียด 5 พันคัน และมีการประเมินกันว่าอัตราการเติบโตในเซกเมนต์นี้จะอยู่ที่ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้นที่ทำได้ 6,400 คัน ส่วนปี 2559 นั้นอยู่ที่ 6,000 คัน

เรียกว่าขยับปรับทัพกันอย่างรวดเร็วสำหรับค่ายบีเอ็มดับเบิลยู และไทร อัมพ์ ซึ่งคงต้องรอดูว่าแผนงานรถรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวมานั้นจะสร้างความฮือฮาได้มากน้อยเพียงใด

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62