"ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ" ... ฝรั่งเศสพร้อมดันไทย สู่ฮับการบินภูมิภาค

23 ต.ค. 2561 | 06:03 น.
… สืบเนื่องจากการเยือนประเทศฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้น ได้มีการลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอร์บัส คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ ที่เมืองตูลูส ตอกย้ำถึงความร่วมมือที่จะจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขึ้นที่อู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดังกล่าวจะมีขีดความสามารถในการให้บริการระดับภูมิภาค หลังจากนั้นล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้นำคณะนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอากาศยานจากฝรั่งเศส จำนวน 7 ราย มารับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนและแผนการพัฒนาโครงการอีอีซี ร่วมกันหารือแนวทางในการสร้างระบบแวดล้อม (Ecosystem) ในพื้นที่อีอีซี ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานการบินและอวกาศของไทย ส่งสัญญาณว่า ผู้ประกอบการของฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะเข้ามาหาลู่ทางร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอันเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 20 ปีของไทย อย่างค่อนข้างชัดเจน

"ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ" อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเศรษฐกิจการลงทุน) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า

 

[caption id="attachment_335285" align="aligncenter" width="377"] ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ[/caption]

อุตฯ เกี่ยวเนื่องทยอยตาม
ฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยนอกจากจะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทแอร์บัสฯ แล้ว ยังมีบริษัทต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม เป็นจุดแข็งที่ทำให้ฝรั่งเศสมีระบบแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมอากาศยานมาโดยตลอด ดังนั้น นอกจากแอร์บัสแล้ว ไทยยังตั้งเป้าชักชวนบริษัทฝรั่งเศสรายอื่น ๆ ในห่วงโซ่การผลิตอากาศยาน มาลงหลักปักฐานในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกของอีอีซี (EECa) ด้วย

"บีโอไอได้ร่วมกับสถานทูตในฐานะทีมไทยแลนด์ ทำงานในรูปของคณะทำงานเพื่อชักจูงนักลงทุนของฝรั่งเศส ทางเราทำงานกันเป็นทีม ขั้นแรก คือ การเสาะหาบริษัทเป้าหมาย ต่อมา คือ การขอเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ดังนั้น เราต้องแบ่งงานกันทำตามความถนัด เอกอัครราชทูตในฐานะหัวหน้าทีม จะทำหน้าที่ในการขอนัดหมายผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของประเทศไทย จากนั้นบีโอไอจะให้ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย" และจากการทำงานในลักษณะนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทางทีมงานจึงได้มีโอกาสพบบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น แอร์บัสและมิชลิน กระทั่งถึงช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้เยือนฝรั่งเศส การพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฝรั่งเศส 4 รายใหญ่ จึงได้เกิดขึ้น ได้แก่ บริษัท ทรานส์เดฟฯ และบริษัท เอสเอ็นซีเอฟฯ 2 รายนี้สนใจลงทุนในด้านรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งตอนนี้ได้มีการซื้อซองประมูลแล้ว และคงจะเข้าขั้นตอนของการยื่นซองเสนอราคาประมูลในเร็ว ๆ นี้

อีกราย คือ บริษัท มิชลินฯ ที่ก่อตั้งในไทยมากว่า 20 ปีแล้ว เริ่มด้วยการผลิตยางรถยนต์ป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มิชลิน ประเทศไทย ได้มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะก้าวไปสู่การผลิตยางล้ออากาศยานด้วย จากการที่ไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน และทางบีโอไอก็ให้การส่งเสริมตามหลักเกณฑ์มาโดยตลอด ประกอบกับ บริษัทมีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ส่งผลให้บริษัทสามารถพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และยกระดับสายการผลิตให้ได้มาตรฐานพิเศษที่จะผลิตยางล้ออากาศยานได้

อีกบริษัท คือ Vinci (วังซี) เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ระดับโลก สนใจที่จะเข้ามาประมูลโครงการก่อสร้างทางด่วน มอเตอร์เวย์ และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซี บริษัทส่งทีมงานมาไทย เพื่อลงพื้นที่สำรวจดูลู่ทางภายในปีนี้ สุดท้าย คือ บริษัท ซูเอสเวสท์แมเนจเมนท์ (Suez Waste Management) เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการขยะ-บำบัดน้ำเสียรายใหญ่ของยุโรป บริษัทสนใจโครงการสมาร์ทซิตีในอีอีซี

"จากการจัดงานสัมมนาของบีโอไอร่วมกับทางสถานทูตในกรุงปารีส ช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 250 คน สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฝรั่งเศสเริ่มสนใจลงทุนในไทยมากกว่าแต่ก่อน งานสำคัญที่สำนักงานบีโอไอปารีสจะต้องทำต่อไป คือ การติดตามความคืบหน้าของนักลงทุน และพร้อมป้อนข้อมูลเพิ่มเติม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนักลงทุน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เขาตัดสินใจลงทุนเร็วขึ้น สำหรับตัวเลขการลงทุน ทางบีโอไอเองมีเป้าหมายในปีหน้าตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท คาดว่าในจำนวนนี้จะไปลงที่อีอีซีมากเกินครึ่ง และหวังว่าจะได้ทุนจากยุโรปไปลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ S-Curve (อุตสาหกรรมเป้าหมาย) มากขึ้นด้วย"


'อีอีซี' ในสายตาฝรั่งเศส
อีอีซีเป็นโครงการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปี แต่รัฐบาลก็มีการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ทางสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทยเอง ก็ติดตามข้อมูลและประสานงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะองค์กรเอกชนของฝรั่งเศส ที่ชื่อว่า MEDEF หรือ สภานายจ้างฝรั่งเศส เป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ก็เป็นพันธมิตรกับหน่วยงานของบีโอไอที่ปารีส สมาชิกขององค์กรนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำของฝรั่งเศส มีเครือข่ายมากมายทั่วประเทศ ฉะนั้น ถ้าเราสามารถสื่อสารข้อมูลให้เมเดฟรับรู้ถึงโครงการอีอีซี นั่นหมายถึง บริษัทในเครือข่ายของเขาก็ได้รับรู้รับทราบข้อมูลนั้นอย่างทั่วถึงเช่นกัน "เรายังมีกิจกรรมโรดโชว์ นำคณะนักลงทุนไปเยือนไทย เช่นที่ท่านเอกอัครราชทูตได้นำคณะนักธุรกิจฝรั่งเศสมาเยือนไทย 7 ราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้เขาลงพื้นที่ได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจมาลงทุน นอกจากนี้ เรายังนำบริษัทสตาร์ตอัพจากฝรั่งเศสมาร่วมงานซับคอน ไทยแลนด์ 2018 เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เขารู้แล้วว่า เรามีศักยภาพอย่างไร เขามีความเชื่อแล้วว่า เมืองไทยสามารถเป็นฐานที่เขาจะต่อยอดธุรกิจจากฝรั่งเศสได้"

ความร่วมมือระหว่างการบินไทยและแอร์บัสในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เมื่อเป็นข่าวไปทั่วโลกก็ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยนั้นมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการบินและเป็นฮับอุตสาหกรรมอากาศยานระดับภูมิภาค โดยมีแอร์บัสเข้ามาเป็นผู้บุกเบิก จากนั้นซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องก็จะตามมา โลกรับรู้แล้วว่า การที่ไทยจะเป็นฮับของอุตสาหกรรมอากาศยานนั้น มีปัจจัยสนับสนุนให้เป็นได้จริง ๆ


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเศรษฐกิจการลงทุน) โดย รัตนศิริ สุขัคคานนท์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ต.ค. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ฝรั่งเศสหนุนใช้จักรยานเพิ่ม 3 เท่าใน 7 ปี
นักธุรกิจด้าน "อากาศยาน" ฝรั่งเศส สนใจลงทุนไทย


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62