ธปท. คุม LTV ทุบแนวราบ! บ้านจัดสรรดิ้นชงปลดล็อก

19 ต.ค. 2561 | 09:42 น.
191061-1621

ดีเวลอปเปอร์สวนกฎแบงก์ชาติคุม LTV ทุบตลาดแนวราบ แค่กู้ร่วมสัญญา 2 เข้าข่ายเก็งกำไรทันที ... สมาคมบ้านจัดสรรดิ้น! ชงปลดล็อกไม่อยู่ในข่ายควบคุม เหตุเป็นเรียลดีมานด์-ต่างชาติซื้อไม่ได้ ... อสังหาฯโคราช ระบุ มีติดป้ายทอนเงิน 1 ล้าน

จากการประกาศปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจะสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ต.ค. นี้ แต่ในฟากของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีความกังวลถึงผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวม โดยเฉพาะตลาดแนวราบ ซึ่งเป็นความต้องการซื้อที่แท้จริง ไม่ใช่การเก็งกำไร หรือ ลงทุน

 

[caption id="attachment_335317" align="aligncenter" width="500"] อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร[/caption]

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็น ตนเองได้เสนอ ธปท. ยกเว้นที่อยู่อาศัยแนวราบไม่อยู่ในข่ายควบคุม LTV ต้องวางเงินดาวน์ 20% เนื่องจากผู้บริโภคซื้ออยู่จริง ไม่มีการเก็งกำไร ที่สำคัญระยะเวลาก่อสร้างสั้น

ขณะเดียวกัน ยังเสนอว่าการเปิดตัวขายใหม่ โครงการบ้านจัดสรรไม่ขยับแรงเหมือนคอนโดมิเนียม โดยธุรกิจบ้านจัดสรรมีหน่วยขายใหม่เฉลี่ยปีละ 4.5 หมื่นหน่วย อีกทั้งต่างชาติไม่สามารถซื้อได้ สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ข้อมูลธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ศูนย์ข้อมูล ธอส.) ระบุว่า ปริมาณที่อยู่อาศัยแนวราบ ปี 2560 จำนวน 4.9 หมื่นหน่วย คาดว่าทั้งปี 2561 จะมีที่อยู่อาศัยในตลาด 4.96 หน่วยเช่นกัน

 

[caption id="attachment_335322" align="aligncenter" width="335"] ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก ธปท. ไม่ยกเว้นที่อยู่อาศัยแนวราบ เชื่อว่าจะทุบตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากฐานลูกค้าค่อนข้างใหญ่ เช่น ระดับกลาง ทั้งนี้ กลุ่มที่ต้องการซื้อบ้านให้กับคนในครอบครัว แม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้กู้ร่วม จะส่งผลให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ 2 หรือ อยู่ในข่ายเก็งกำไรโดยอัตโนมัติ และหากหาเงินวางเงินดาวน์เพิ่มไม่ไหว อาจชะลอตัดสินใจ แม้กระทั่งทิ้งจองได้

ขณะที่ "คอนโดมิเนียม" ยอมรับว่า มีการเก็งกำไร แต่ต้องการสะท้อนว่า กลุ่มซื้อเพื่อเก็งกำไรมักไม่โอน ดังนั้น มาตรการแบงก์ชาติที่ออกมา มองว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ด้าน นายวีรพล จงเจริญใจ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา สะท้อนว่า แบงก์ชาติต้องการคุมเงินทอนจากไม่กี่บริษัท แต่กลับกระทบทั้งระบบ นอกจากคอนโดมิเนียมในจังหวัดจะขายช้าแล้ว แนวราบในต่างจังหวัดยิ่งกระทบ เนื่องจากระยะเวลาก่อสร้างเพียง 6-8 เดือน จ่ายต่องวดก่อนโอนค่อนข้างหนักขณะเงื่อนไขปกติ ยิ่งลำบากแล้ว ยิ่งออกมาตรการใหม่ยิ่งกระทบมากขึ้นจากเกณฑ์วางเงินดาวน์ โดยเฉพาะอสังหาฯ จากส่วนกลางที่ใช้เทคนิคติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่จูงใจ ด้วยการทอนเงิน 1 ล้านบาท หากซื้อบ้านในโครงการ


appMP33-3176-A

สอดคล้องกับ นางกุลชฎา ลาภาโรจน์กิจ เจ้าของโครงการบ้านสายชล ย่านสนามบิน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ธุรกิจในเครือบ้านซูซูกิ สร้างบ้านในราคา 2-4 ล้านบาท กล่าวว่า มาตรการนี้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เดิมเราให้ดาวน์ 5,000 บาท ถ้ากู้ผ่านก็โอนแล้วผ่อนกับธนาคารได้เลย โอกาสของผู้มีรายได้น้อยที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองก็จะยาก เพราะธนาคารก็เข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว บ้านระดับราคา 2 ล้านบาท เป็นบ้านที่ขายง่าย แต่เมื่อมามีมาตรการทำให้ขายยากมาก ผู้ประกอบการควรจะรวมตัวกันในนามสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ ขอให้รัฐทบทวนมาตรการนี้

นางฉัตรแก้ว คชเสนี เจ้าของฉัตรทองพร็อพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนาโครงการบ้านฉัตรทอง ท่าข้าม บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาช่วยธนาคาร กลัวปัญหาเอ็นพีแอล แต่กระทบผู้ประกอบการ ทำให้ขายบ้านได้ยากขึ้น ผู้มีรายได้น้อยจะมีโอกาสมีบ้านยากขึ้น ส่วนโครงการบ้านฉัตรทอง ราคาหลังละ 5 ล้านบาทขึ้นไป ได้รับผลกระทบไม่มาก คิดว่าบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่กระทบ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงอยู่แล้ว ให้จ่ายเงินดาวน์บ้าน 20% ก็ไม่มีปัญหานัก แต่เห็นว่าควรทบทวนมาตรการนี้

 

[caption id="attachment_335328" align="aligncenter" width="503"] ©Giovanni_cg ©Giovanni_cg[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" สอบถามไปยังสมาคมธนาคารไทย ต่อกรณีทางออกเกี่ยวกับมาตรการแบงก์ชาติ ล่าสุด ได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันในขณะนี้

ส่วนแหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า เก็บรายได้จากการโอนบ้านและที่ดินได้ปีที่ผ่านมาจำนวน 420 ล้านบาท การจำนองลดลง ขายฝากเพิ่มขึ้น มีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยบ้านราคา 1-2 ล้านบาท ธนาคารเข้มงวดสินเชื่อ ส่วนบ้านราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป จึงขายได้และมีการโอนมากกว่าบ้านที่ราคาต่ำ ธุรกิจรายเล็กจึงอยู่ยาก บ้าน 1-2 ล้านบาท ขายไม่ได้ เพราะไม่ผ่านการพิจารณาของสถาบันการเงิน มาตรการคุมเข้มด้านสินเชื่อก็เป็นอุปสรรคมากขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยืดดาวน์บ้าน แก้เกม ธปท. !!
"แบงก์-อสังหา" วอน ธปท.เลื่อนเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก